คุณปั๋น Riety ศิลปิน นักแสดง ครีเอเตอร์ที่เชื่อว่าศิลปะ กับวิทยาศาสตร์คือเรื่องเดียวกัน

ศิลปิน นักแสดง ครีเอเตอร์ที่เชื่อว่าศิลปะ กับวิทยาศาสตร์คือเรื่องเดียวกัน

Introduction

  • การมีพรสวรรค์ติดต่อเป็นเรื่องที่ดี แต่ความชอบ และการเลือกทำอย่างพรแสวงก็สำคัญ
  • ส่วนผสมที่สำคัญของงานศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่เข้ามาทำให้ศิลปะสนุกขึ้น
  • คุณค่าของงานศิลปะจากคนทำงานศิลปะ ที่หลายคนมองไม่เห็น

9Conversations วันนี้อยากชวนทุกคนนึกย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่เราอยู่ในวัยเด็ก ตอนนั้นเราเองจะรู้ตัวหรือยังนะว่าชอบอะไร? ถ้าคุณนึกออกว่าสิ่งนั้นคืออะไร ให้ลองถามตัวเองอีกรอบว่า แล้ว ณ ตอนนี้ เรายังชอบสิ่งนั้นอยู่ไหมนะ…

เคยมีหลายคนบอกว่าสิ่งที่เราชอบในวัยเด็กอาจจะกลายเป็นแรงผลักดัน หรือสร้างแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างให้เรากลายเป็นเราในวันนี้ เราได้ลองหยิบคำถามนี้ให้ ‘คุณปั๋น Riety’ ศิลปิน นักแสดง และครีเอเตอร์ มาเล่าให้เราฟังว่าในวัยเด็กคุณปั๋นรู้ตัวหรือยังว่าชอบอะไร?

คุณปั๋นบอกกับเราว่า
“ตั้งแต่จำความได้ ปั๋นก็วาดรูปแล้ว และทุกคนก็บอกว่า วาดรูปสวยจังเลย เธอวาดรูปแลกให้เราได้ไหม เดี๋ยวเราทำการบ้านให้”

เป็นการแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน หลังจากนั้นคุณปั๋นก็เริ่มวาดรูปมาโดยตลอด ในวัยเด็กจะมีหนังสือการ์ตูนให้อ่านอยู่ตลอด มีการ์ตูนให้ชม การได้อ่าน และมองดูรูปภาพที่อยู่ในนั้น ไม่ว่าจะหนังสือ หรือบนจอโทรทัศน์ มันทำให้คุณปั๋นเลยค้นพบว่ามีอาชีพนี้ ที่หมายถึงอาชีพที่นักวาดการ์ตูน จึงทำให้อยากเป็นหนึ่งในอาชีพนั้นให้ได้ และนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณปั๋นได้อยู่ในวงการศิลปะมาตลอดตั้งแต่เด็กยาวมาถึงปัจจุบัน

พรสวรรค์ หรือ พรแสวง

มนุษย์เรามักจะมีคนที่มีพรสวรรค์ ทำสิ่งนั้นๆ ได้ดีโดยที่ไม่ต้องสรรหา และสำหรับบางคนจะมีพรแสวง การแสวงหาสิ่งนั้นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความสามารถ หรือสำหรับบางคนสามารถมีทั้ง 2 ซ่อนอยู่ในตัว ซึ่งสำหรับคุณปั๋นเองนั้น เธอมองว่า

ปั๋นคิดว่ามีความสามารถติดตัวสำคัญประมาณนึง แต่ความชอบ และการเลือกทำก็สำคัญ

ครั้งหนึ่งคุณปั๋นเอง เคยเป็นคนที่ส่งภาพวาดประกวดและไม่ชนะ ครั้งนั้นเธอเองยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ชนะ จึงกลับมาฝึกฝนสกิลการวาดภาพของตัวเองให้มากขึ้น จนสุดท้ายเมื่อกลับไปมองผลงานชิ้นเดิมที่เคยทำ จึงได้รู้ว่า…

“เคยส่งผลงานประกวดผ้าปูที่นอนโตโต้ แต่ไม่ชนะตอนนั้นอยู่ป.3 เป็นภาพผู้หญิงในกาแล็กซี่ ติดใจมากว่าทำไมไม่ชนะ เลยฝึกวาดภาพผู้หญิงมานานหลายปี จนกลับไปเจองานชิ้นนั้นอีกครั้งเลยรู้ว่า งานห่วยมาก”

ส่วนผสมที่ลงตัวของงานศิลปะ

คุณปั๋นได้ให้อธิบายถึง DNA การทำงานศิลปะในทุกๆ ครั้ง จะมีการใส่เรื่องราวที่เธออยากจะสื่อสารแฝงเข้าไป ผสมผสานกับโจทย์ที่เธอได้รับมา และหนึ่งประโยคที่คุณปั๋นได้บอกกับเรา

“ปั๋นไม่ได้วาดรูปเก่งมากที่สุด แต่มีจุดแข็งที่การเรียบเรียงเรื่องเล่าในงานศิลปะได้ดี” 

ยกตัวอย่างหนึ่งผลงานจากคุณปั๋นอย่าง NFT ‘Hotel De Mentia’ ที่ต้องการบอกคนดูว่า “คุณไม่ได้เศร้าอยู่คนเดียว มีคนอื่นที่เศร้าเป็นเพื่อนกับคุณ” จึงสร้างเป็น Community ให้คนพูดคุยเรื่องความเศร้า แบ่งปันมุมมองการผ่านเรื่องราวศิลปะ NFT และมีเรื่องราวของคุณปั๋นซ่อนอยู่ในผลงานด้วย เป็นไอเดียที่ต้องการโอบกอดให้กับคนที่เศร้าแล้วมักหลีกหนีจากคนอื่น ได้มีพื้นที่ที่ทำให้เขาสามารถระบายความเศร้าออกมาได้เต็มที่

เมื่อพูดถึง NFT แล้วนั้น คุณปั๋นได้เซอร์ไพร์สว่าคุณปั๋นนั้นสามารถเขียน Code และยังงานศิลปะได้ด้วย ซึ่งสิ่งนี้จึงทำให้คุณปั๋นสนุกกับงานศิลปะ NFT อย่างมาก และอีกหนึ่งเหตุผลที่คุณปั๋นเลือกทำสิ่งนี้ เพราะมันเป็นเหมือนส่วนผสมระหว่าง Art กับ Technology เปิดโลกให้คนทำงานศิลปะ เป็นพื้นที่ให้กับศิลปิน และคนที่ชอบในศิลปะได้มาเจอกัน ซึ่งเดิมที่งานศิลปะนั้น แม้จะมีจุดแข็งคือการเล่าเรื่องราว แต่กลับกัน มักมีจุดอ่อนคือ เข้าชมงานศิลปะได้ยาก แต่ NFT นี้ทำให้ศิลปินได้มีอิสระ สร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายทั้งเพลง ภาพนิ่ง หรือวิดีโอ และมีพื้นที่อิสระที่มากขึ้น

After 3 months of NFT, this is what happened | My NFT Journey (https://www.youtube.com/watch?v=IWoe_Gukc5E)

ศิลปะไม่จำกัด อะไร อะไรก็กลายเป็นศิลปะได้

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในตัวคุณปั๋นคือ ความเชื่อที่ว่า ‘วิทยาศาสตร์ กับ ศิลปะ’ นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน อาจจะอธิบายให้เห็นภาพได้ เช่น ทุกครั้งที่ทำงานศิลปะสีที่เราใช้ มาจากการทำปฏิกิริยาทางเคมี หรือการลงสีน้ำทั่วไปที่ต้องการลูกเล่นของงานศิลปะ โดยการใช้เกลือ ทำให้เกิดเป็นรูปร่างที่คล้ายเกล็ดหิมะบนงาน ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีเช่นกัน สิ่งเหล่านั้นน่าจะพออธิบายได้ว่า ‘วิทยาศาสตร์ กับ ศิลปะ’ เป็นเรื่องเดียวกัน และในยุคที่มีเทคโนโลยีก็สามารถหยิบเข้ามาผนวกกับเรื่องศิลปะได้เช่นกัน ในงานศิลปะมักจะมีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่จากผู้ส่งสารหรือศิลปิน แต่สารที่ได้รับนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้รับสารว่าจะตีความออกมาแบบไหน มองภาพนั้นอย่างไร

ศิลปะไม่จำกัด ขอบเขตมันกว้างมาก อะไร อะไรก็กลายเป็นศิลปะได้ แม้แต่สิ่งที่ไร้จิตวิญญาณอย่างคอมพิวเตอร์ เพราะคนรับสารคือมนุษย์ และมนุษย์มีความเป็นศิลปินอยู่ในใจ

“ศิลปะมันขึ้นอยู่กับคนรับสารมากกว่า ว่าเขาจะตีความสิ่งนั้นว่าเป็นศิลปะไหม” 

ชีวิตคือ Masterpiece of Art

“ในหัวทุกๆ คนจะมีภาพจินตนาการภาพของตัวเองที่อยากจะให้เป็น ปั๋นมองว่าสิ่งนั้นคือ ภาพ Sketch ที่เราอยากจะวาดให้ได้ และเราค่อยๆ เติมสี เติมเส้น แต่งเรื่องราวของชีวิตตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อให้ Complete ภาพในหัวให้มากที่สุด บางทีทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ทำให้รู้สึกว่าชีวิตคนหนึ่งคนเหมือนภาพวาดหนึ่งภาพ”

“ตอนเราเป็นเด็กเราอาจจะ Sketch มันไว้แบบนึง พอตอนแก่มันอาจจะกลายเป็นอีกภาพ แต่ถ้าทุกคนสามารถวาดภาพชีวิตของตัวเองออกมาได้ นั้นก็คือ Masterpiece ของทุกคน”

และสำหรับเราการสัมภาษณ์ช่วงนี้เหมือนเป็น Masterpiece ของการสัมภาษณ์ครั้งนี้เช่นกัน เพราะหากเราได้คิดตามสิ่งที่คุณปั๋นพูด ชีวิตของคนเรามักจะมีเป้าหมาย หรือสิ่งที่คาดหวังไว้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราจะทำมันได้สำเร็จ เราอาจจะทำสำเร็จในจุดอื่นแทน แต่นั้นก็เป็นภาพวาดที่เราได้ลองผิด ลองถูก อาจไม่สวยสมบูรณ์ในท้ายที่สุด แต่ระหว่างทางที่เราได้วาดมันมักจะมีสิ่งสวยงามซ่อนอยู่เสมอ

ครั้งหนึ่งอยากยุติบทบาท YouTuber

ในช่วงแรกที่คุณปั๋นเริ่มทำ Youtube ความรู้สึกในตอนนั้นมันเหมือนมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา เพราะระบบหลังบ้านของ Youtube จะมีแสดงผลตอบรับต่างๆ ของช่องเรา ตอกย้ำให้เราต้องทำให้ดียิ่งขึ้น พยายามให้มากขึ้น เพื่อให้ยอดคนดู ยอดผู้ติดตามมันมากขึ้นกว่าที่เคย

“ไม่ชอบการเป็น YouTuber ของตัวเองมากที่สุด เหมือนเป็นหนูปั่นจักร ต้องลงงานทุกอาทิตย์ ต้องทำตามกระแส ไม่ได้มองภาพรวมของชีวิต รู้สึกว่างานไม่ได้ไปไหน”

จนท้ายที่สุดคุณปั๋นรู้สึกว่าสิ่งนี้กำลังดึงให้เธอโฟกัสกับสิ่งนี้มากเกินไป จนอยากจะเลิกทำ เพื่อหลุดออกจากวังวนการแข่งขัน(กับตัวเอง) แต่สิ่งที่ยังทำให้คุณปั๋นตัดสินใจยังคงทำ Youtube มาอย่างต่อเนื่องนั้นเพราะเหล่าผู้คนที่ยังคงติดตาม และเข้ามาดูคอนเทนต์ที่เธอได้ตั้งใจลงมือทำไว้ และยังมองมุมกลับหาก Youtuber ที่เธอติดตาม อยู่มาวันหนึ่งเขาเลิกทำ ไม่โพสต์คอนเทนต์อีกต่อไป เธอคงจะรู้สึกเสียใจ และเสียดายที่จะไม่ได้ดูคอนเทนต์จากเขาเหล่านั้นอีก จึงเป็นเหตุผลที่คุณปั๋นยังทำคอนเทนต์ต่อ แต่เลือกปรับการใช้เวลากับ Youtube ให้มีสมดุลมากขึ้น เพื่อไม่ให้กลับเข้าสู่วังวนเดิม

YouTuber ในไทยการแข่งขันสูงมาก คุณภาพสูงมาก จนขาดการเปิดกว้าง ให้เด็กคนนึงหยิบกล้องขึ้นมาแล้วตัดต่อในห้องนอนได้ อยากให้เป็นแบบนั้น

สิ่งที่คุณปั๋นอยากให้เกิดขึ้นในวงการของ Youtube ที่คล้ายคลีงกับลักษณะคอนเทนต์ของ Youtuber ที่คุณปั๋นชื่นชอบอย่าง Emma Chamberlain ซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้ตัดต่ออลังการมาก เล่าเรื่องจากตัวตนจริงๆ แต่ยังสามารถทำให้น่าสนใจได้ ถ้าวงการนี้เปิดกว้างมากพอ อาจจะทำให้อีกหลายๆ คนกล้าที่จะลงมือทำ

ซึ่งลักษณะการทำคอนเทนต์ของคุณปั๋นจะอิงจากความชอบเวลาที่คุณปั๋นดูจาก Youtube อื่นๆ ที่มีความต้องการให้รู้สึกเหมือนนั่งกับเพื่อน เวลาทำงาน ซึ่งเป็นเพื่อนที่ไม่รบกวนตัวเธอ จึงทำให้แต่ละวิดีโอที่ออกมา จะไม่ได้เอฟเฟคหรือเสียงที่หวือหวา แต่จะมีจังหวะการเล่าที่คุณฟังแล้วยังสามารถจดจ่อกับสิ่งที่คนดูกำลังทำอยู่ได้ ควบคู่กันไป คุณปั๋นเชื่อว่าอย่างน้อยระบบอัลกอริทึมน่าจะสุ่มให้คนที่มีความชอบแบบเดียวกัน ให้มาเจอคลิปวิดีโอของเธอได้นั่นเอง

บ้านในฝันที่ฉันเนรมิตรเอง

หลายคนคงมีความฝันที่อยากจะมีบ้านสักหลังที่ทุกอย่างในบ้าน มาจากสิ่งที่เราชอบจริงๆ ทั้งการตกแต่ง Mood&Tone ที่ต้องการ คุณปั๋นเองก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งถึงแม้จะไม่ชอบอยู่ในกรุงเทพฯ ชอบอยู่ต่างจังหวัด แต่งานที่ทำจึงต้องอยู่ในกรุงเทพฯ เลยจำเป็นต้องเลือกบ้านไม่ไกลจากกลางเมือง

“บ้านหลังนี้ถูกใจมาก มันเงียบ อุ่นใจ มีสวน นอกบ้านสวย นึกภาพออกเลยว่าจะวาดรูปมุมไหน ถ่ายคลิป YouTube มุมไหน คิดว่าเหมาะสมดีเลยเช่า”

เนรมิตรตกแต่งด้วยสิ่งของที่เลือกมาแล้วว่าเข้ากับคาแรคเตอร์ของบ้าน และจะเลือกไม้แท้ หนังแท้ ถึงแม้ตัวคุณปั๋นเองจะต่อต้านการใช้หนังสัตว์ แต่ก็ตัดสินใจเลือกใช้ เพราะอยู่ได้นาน และส่งผลดีกว่า Fast Furniture ที่แม้จะสวยดี แต่อยู่ได้ไม่นาน

เรียนรู้จากประสบการณ์ (ของคนอื่น)

คุณปั๋นมองว่าเธอเองยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีเป้าหมายอื่นตั้งไว้ในใจที่ไม่ใช่สิ่งที่เธอทำอยู่ในปัจจุบัน และเธอหากมีใครที่เป็นคนประสบความสำเร็จ อาจไม่ใช่คนที่ควรมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนอื่น เพราะท้ายที่สุดการประสบความสำเร็จของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน เธอจึงไม่ได้เลือกเรียนรู้ประสบการณ์จากใครคนใดคนหนึ่ง คนเราจะมีโอกาสได้เจอผู้คนมากมาย ความคิดของผู้คนเหล่านั้นมันจะค่อยๆ หล่อหลอมให้เรามีความคิดบางอย่างที่ออกมาจากเราเอง

“คนที่ให้อิทธิพลทางความคิด คือคนที่เจอใน Everyday Life เราเรียนรู้จากเรื่องราวของคนอื่น ไม่ว่าจะความสำเร็จ หรือความผิดพลาด”

“ทุกอย่างในโลกนี้คือสมการ คือการทดลองที่ต้องใส่ค่าลงไป เพื่อพิสูจน์ว่าถูกหรือผิดเพราะอะไร แล้วเราจะทำให้มันดีขึ้นได้ยังไง”

อยากให้สังคมไทยให้คุณค่ากับงานศิลป์

สิ่งที่คุณปั๋นอยากให้มีอิทธิพลต่อคนดูในแง่ของงานศิลปะ อยากให้คนรู้ว่างานศิลปะอยู่ในทุกที่ และอยากให้คนรู้สึกว่าการทำงานศิลปะ ไม่ใช่ศิลปินไส้แห้ง ซึ่งคิดว่าในปัจจุบันหลายคนน่าจะไม่ได้คิดเช่นนั้นแล้ว

“ศิลปินทำได้หลายอย่าง ไม่ใช่แค่นั่งฝันกลางวัน แต่เป็นผู้จุดประกายความคิดได้”

และเพื่อเป็นการผลักดันให้ศิลปินมีแรงใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มากขึ้น จึงอยากให้ประเทศเราให้คุณค่ากับงานศิลปะมากขึ้น ทำให้กลายเป็นอาชีพที่มีสวัสดิการรวมของอาชีพ มีสิทธิวันหยุด เงินเดือนที่เป็นรายได้ประจำ มี Sandbox ที่เป็นพื้นที่รองรับ เพราะศิลปินส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะทำงานเป็นฟรีแลนซ์ มีรายได้ไม่แน่นอน ทั้งที่จริงๆ การทำงานศิลปะมีคุณค่าไม่แพ้อาชีพใด

“ปั๋นมีเพื่อนที่เก่งมากๆ แต่ล้มเลิกไปเพราะไม่มีคนเห็นผลงานเค้า ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นอีก”

Social Media เป็นแดนเถื่อน

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเลือกตัดสินใจกระโดดเข้ามาในโลกโซเชียล สิ่งที่เราจะต้องเตรียมรับมือกับดินแดนเสรีออนไลน์นี้มีหลายสิ่ง เพราะทุกคนสามารถที่จะพูดอะไรก็ได้ ทั้งในแง่ดี หรือในแง่ลบก็ตาม คุณปั๋นเองจึงให้คำนิยามไว้ว่า

“Social Media เป็นเหมือนแดนเถื่อน ไม่มีใครปลอดภัย เป็นดินแดนเสรีที่ใครจะพูดอะไรก็ได้”

เกราะป้องกันเพื่อรับมือกับคำพูด ทางที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ ‘ปล่อย’ ปล่อยให้ผู้คนแสดงความคิดเห็นไม่ว่าในแง่ใดก็ตาม ถ้าสิ่งนั้นไม่ดีกับตัวเองจงอย่าไปสนใจ แต่อย่าปิดกั้นความคิดเห็นของคนอื่น เพราะท้ายที่สุดเราอาจจะได้เพิ่มสกิลบางอย่างในการรับมือกับมันได้ในสักวัน

“ทุกคนควรมีอิสระในการโต้วาที แสดงความเห็น ไม่ว่าในแง่ไหน”

“ถ้าได้ฝึกดีเบต ฝึกการใช้เหตุผล มีเหตุผลในการโต้เถียง มันอาจเกิดผลดีในชีวิตก็ได้”

“Conversation มันฝึกสกิลบางอย่างให้กับคนที่พูด และคนที่รับเสมอ เอาเลยค่ะ ปล่อยฟรี”

และทั้งหมดคือบทสัมภาษณ์ที่เราได้ร่วมวาดภาพผ่านบทสนทนา ต้องขอบคุณมุมมอง และแง่คิดดีๆ จากคนที่มีความรักในงานศิลปะอย่าง ‘คุณปั๋น Riety’ เราหวังว่าการถ่ายทอดงานศิลปะของศิลปิน จะมีผู้คนมองเห็นคุณค่ามากขึ้นในอนาคต