คุยกับ ‘ครูปุ้ม ปทมา อัตนโถ’ TikToker Full-Time วัยเกษียณ
ครูปุ้ม ปทมา อัตนโถ TikToker Full-Time วัยเกษียณ
Introduction
- ครูปุ้ม ปทมา อัตนโถ อดีตหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษ ที่ใช้ชีวิตในวัยเกษียณไปกับการผันตัวเป็น TikToker คนดัง
- คลิปสั้นๆ เพียง 1 นาทีของครูปุ้ม เต็มไปด้วยความพยายาม และความรู้ที่อัดแน่น จากประสบการณ์สอนหลายสิบปี
- ใครอยากเก่งภาษาอังกฤษครูปุ้มแนะนำเลยว่าไม่มีทางลัด มีแต่เคล็ดลับที่ครูปุ้มพร้อมมอบให้
ก่อนที่จะเริ่มต้นอ่านเรื่องราวของบุคคลเจ้าของเรื่องเล่าอันน่าสนใจที่ 9 Conversations ได้มีโอกาสไปพูดคุยกันแบบเจาะลึก เราอยากจะตั้งคำถามให้คุณผู้อ่านได้จินตนาการกันก่อนว่า “ชีวิตในวัยเกษียณของคุณเป็นอย่างไร?”
บางคนอาจใช้ช่วงเวลาในวัยเกษียณไปกับการทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ เที่ยวรอบโลก ตระเวนกินของอร่อย หรือทำในสิ่งที่ไม่เคยทำในช่วงวัยทำงาน เพราะไม่มีเวลามากพอ บางคนอาจใช้ช่วงเวลาหลังเกษียณอายุจากการเป็นอาจารย์ในภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นชาว TikToker สอนภาษาอังกฤษแบบ Full Time
บุคคลที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน เราทุกคนคงคุ้นหน้าคุ้นตากับคลิปสอนภาษาอังกฤษสั้นๆ ความยาวเพียง 1 นาที แต่อัดแน่นไปด้วยสาระ และความรู้แบบเต็มพิกัด ที่ครูปุ้ม ปทมา อัตนโถ เจ้าของช่อง TikTok Krupumcu ตั้งใจ ‘คายตะขาบ’ ความรู้ภาษาอังกฤษ ที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงานหลายสิบปี
ครูปุ้มเริ่มต้นการพูดคุยในวันนี้ด้วยท่าทางสบายๆ เล่าเรื่องราวก่อนวัยเกษียณของตัวเองให้กับพวกเราชาว 9 Conversations ได้น่าสนใจมากๆ
“ครูเคยทำงานเป็นอาจารย์ในภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเรียนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ตั้งแต่ปี 2528 แล้วก็ทำงานมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเกษียณอายุ”
ในวันที่เกษียณอายุจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ครูปุ้มใช้ช่วงเวลานี้ไปกับการเป็นครูสอนภาษาผ่าน ช่องทาง TikTok ควบคู่ไปกับการเป็นวิทยากรรับเชิญ และบรรณาธิการแปลภาษาบ้างเป็นครั้งคราว แต่เรียกได้ว่าชีวิตของครูปุ้มในวันนี้ “มี TikTok เป็นงานหลักของชีวิต ที่มีทั้งความสุข และสบายใจ”
จุดเริ่มต้นเส้นทางการเป็นอาจารย์ เหมือนโชคชะตากำหนดไว้
ก่อนหน้าที่ครูปุ้มจะเดินทางไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท ที่สหรัฐอเมริกา ครูปุ้มเคยทำงานที่บริษัทเงินทุนแห่งหนึ่งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
แต่หลังจากเรียนจบ และกลับมายังประเทศไทยแล้ว เหมือนว่าโชคชะตาในชีวิตจะเป็นสิ่งที่ขีดเส้นให้ครูปุ้ม ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจนถึงวัยเกษียณ
“ก่อนหน้านั้นครูเคยไปสมัครงานที่ธนาคารแห่งหนึ่ง แล้วก็ได้รับการคัดเลือก แต่ด้วยดวงที่จะต้องเป็นครู ก็มีเพื่อนมาบอกว่ามีตำแหน่งที่คณะอักษรศาสตร์ว่าง ครูก็เลยเดินเข้าไปพบหัวหน้าภาควิชา เอาเอกสารไปยื่น สอบผ่าน แล้วเขาก็รับเข้าทำงาน”
การเลือกทำงานเป็นอาจารย์ ในขณะที่มีอีกทางเลือกอื่นที่มั่นคงไม่แพ้กัน เกิดจากพื้นฐานความรักที่ครูปุ้ม และคนในครอบครัวมีให้แก่ภาษาอังกฤษ
“ครูชอบภาษามาตั้งแต่เล็ก พี่น้อง 3 คน ก็เรียนภาษา จบคณะอักษรศาสตร์กันหมดเลย ทั้งๆ ที่คุณแม่ของครูเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์”
“ตั้งแต่เล็กที่บ้านของครูเป็นครอบครัวข้าราชการ คุณพ่อเป็นข้าราชการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเพื่อนๆ หรือผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาที่บ้านตลอด”
“ครูได้ยินคุณพ่อพูดทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส สำหรับครูซึ่งเป็นเด็กเล็กๆ อายุ 5 ขวบ รู้สึกว่าทำไมคุณพ่อเก่งจัง พอมีแขกมาที่บ้าน ครูก็จะเข้าไปแอบฟังเขาคุยกัน”
“คุณพ่อเล่าว่าตอนเรียนมัธยมปลาย เรียนวิชาพีชคณิตเป็นภาษาฝรั่งเศส ครูก็รู้สึกว่าพ่อเรามาจากไหนเนี่ย ทำไมเก่งจัง ลำพังให้ครูเรียนพีชคณิตเป็นภาษาไทยยังไม่รู้เรื่องเลย ทำไมพ่อถึงสามารถเรียนวิชาที่ครูคิดว่ายาก ด้วยภาษาฝรั่งเศสได้”
แม้คุณพ่อของครูปุ้มจะมาเฉลยทีหลังว่า “ที่พูดๆ ไป ไม่ใช่สำเนียงดีเลยนะ แต่ฝรั่งเขาก็ฟังรู้เรื่อง และสื่อสารได้” แต่ก็ทำให้ครูปุ้มได้ซึบซับทัศนคติดีๆ เกี่ยวกับภาษา และเกิดความคิดที่อยากจะพูดภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศสให้ได้แบบคุณพ่อ
หลังจากที่ครูปุ้มเริ่มมีใจรักในภาษาอังกฤษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ครูปุ้มก็เริ่มต้นหาวิธีในการฝึกภาษาอังกฤษของตัวเอง ด้วยการเก็บเงินค่าขนมเพื่อซื้อหนังสือแบบฝึกหัดราคา 20 บาท ที่เกินความสามารถของครูปุ้มในช่วงวัยนั้นไปอีก 2 ปี
“ครูซื้อแบบฝึกหัดเล่มนั้นกลับมา ในวันแรกครูทำไปได้ 2 หน้า หลังจากนั้นไม่รู้เรื่องเลย แต่ก็ไม่ได้เสียใจ แล้ววันหนึ่งมันก็ทำได้”
“พอเปิดเทอมไป ก็ได้เรียนในสิ่งที่เห็นจากแบบฝึกหัดราคา 20 บาท นั่นแหละ อ้าวนี่ไง เจอแล้ว เลยกลับมาดูแบบฝึกหัดเล่มนั้นอีก ทีนี้เลยยิ่งติดใจว่าได้รู้ก่อนที่จะเรียนในโรงเรียน ถ้ามีหนังสือที่เป็นตัวช่วยให้เราได้เรียนไปก่อน เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง โดยไม่มีครูสอนก็ดีนะ พอเปิดเทอมก็เรียนได้อย่างสนุก”
นี่คือจุดเริ่มต้นที่เกิดจากความพยายาม ทำให้ครูปุ้มกลายเป็นคนที่มีทักษะทางภาษาติดตัวมาตั้งแต่วัยเด็ก จาก Passion ซึ่งครูปุ้มย้ำอยู่เสมอว่า Passion ไม่ได้แปลว่า ‘ความหลงใหล’ แต่แปลว่า ‘มีใจรัก’
หนึ่งในคำถามที่ครูปุ้มพบเจอบ่อยๆ ในฐานะอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ คือ ทางลัดที่จะช่วยให้เก่งภาษาอังกฤษ แต่ครูปุ้มยืนยันอย่างหนักแน่นว่า อยากเก่งภาษาอังกฤษ ไม่มีทางลัด อาจมีเคล็ดลับ แต่ไม่มีทางลัดแน่นอน
ครูปุ้มยกตัวอย่างเรื่องการท่องศัพท์ “วิธีจำศัพท์ของครูคือการทำตารางใส่สมุด คำศัพท์คำเดียวใส่ทั้งคำแปล ตัวอย่างประโยค ใส่คำตรงข้ามของคำศัพท์คำนี้ วันนึงที่เราท่องศัพท์ เราจะได้คำตรงข้ามไปด้วย ครูทำแบบนี้ทุกวัน ถ้าไม่มีเวลาก็ท่องแค่วันละ 5 คำก็ได้ แล้วพรุ่งนี้ค่อยมาดูใหม่”
“อย่ามาคิดว่าต้องมาเร่งรัด ครูไม่สนับสนุนการเร่งรัด การที่เราเขียนเอง ใส่คำศัพท์ด้วยตัวเอง มันทำให้เราจำอะไรได้มากกว่าการไปนั่งฟังคนอื่น ให้ทำแบบนี้ทุกวัน มันก็จะสะสม หนึ่งเดือนมี 30 วัน เมื่อคูณเข้าไป วันละ 10 คำ ทำไป 2-3 เดือน มันต้องได้ผล ครูสอนแบบนี้ทุกคน ถ้ามีจุดประสงค์แน่นอน ก็จะหาช่องทางไปได้เอง”
เส้นทางสู่ TikToker ของคุณครูวัยเกษียณ
กลับมาที่ปัจจุบัน ครูปุ้มได้ใช้ความรู้ ความสามารถด้านภาษา หล่อหลอมลูกศิษย์ และศิษย์เก่า มานานหลายสิบปี จนกระทั่งเกษียณอายุ แต่ครูปุ้มก็ไม่ได้หยุดทำงานด้านการสอนไปอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่พื้นที่ในการสอนเปลี่ยนจากห้องเรียน เป็น TikTok เท่านั้นเอง
“คนที่พาครูเข้าสู่วงการ TikTok คือศิษย์เก่าของคณะครุศาสตร์ ซึ่งไม่ได้เรียนกับครูโดยตรงเลยนะ เขามานั่งเรียนกับครูในคลาสบุคคลภายนอกและรู้จักกันจากเรื่องอื่น”
“ตอนที่เกษียณได้ใหม่ๆ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เขาโทรมาหาครู ว่าครูปุ้มทำอะไร ครูก็ตอบไปว่าต้องรื้อของ จัดของ เพราะของเต็มบ้านเลย แล้วเขาก็ถามว่า ครูไม่เล่น TikTok หรือครับ ตอนนั้นครูก็ถามเขากลับไปว่า TikTok คืออะไร เขาบอกว่าให้ครูสอนเรื่องอะไรก็ได้ พูดภายใน 60 วินาที”
เวลาในการทำคลิปสั้นๆ ที่ถูกจำกัดไว้เพียง 60 วินาทีนี้เอง กลับเป็นปัญหาใหญ่ของครูปุ้ม เพราะตลอดชีวิตการเป็นอาจารย์ ครูปุ้มเคยชินกับการสอนนานหลายชั่วโมง จึงเป็นเรื่องยากที่ครูปุ้มจะสอนให้จบในเวลาเพียง 60 วินาที
“ครูก็บอกว่านั่นแหละปัญหา เพราะครูไม่เคยพูดอะไรสั้นๆ เลย เป็นคนพูดมาก … 60 วินาที ครูทำไม่เป็นหรอก”
แต่ด้วยความช่วยเหลือของลูกศิษย์ ทำให้ครูปุ้มทำคลิปแรกออกมาสำเร็จ แม้จะไม่ได้มีลูกเล่นที่ดูน่าสนใจ แต่ถ้านับเรื่องเนื้อหาสาระ ก็ต้องบอกว่าอัดแน่นไปด้วยคุณภาพตั้งแต่คลิปแรก
“การทำคลิปของครู มีการ Research ข้อมูล คลิปความยาว 1 นาที แต่ใช้เวลาทำถึง 1 ชั่วโมง ไม่ใช่แค่การอัด แต่เป็นการหาตัวอย่างประโยคที่ต้องเข้าใจได้ทันที ใส่เสียง ใส่ภาพประกอบ ดังนั้นใน 1 คลิปของครู ใช้ความพยายามในการทำ”
“ทุกครั้งที่ครูทำคลิป ครูมีสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปด้วย เพราะครูจะไปเจอตัวอย่างประโยคเก๋ๆ หรือมีคำอื่นในประโยคที่ชอบ ก็เอาคำนั้นไปทำอีกคลิป ต่อยอดไปเรื่อยๆ”
จากประสบการณ์การทำคลิป TikTok มาอย่างยาวนานนับพันคลิป เราจึงถามครูปุ้มว่าครูปุ้มชอบการสอนในห้องเรียน หรือใน TikTok มากกว่ากัน
“ปัจจุบันต้องบอกว่าครูชอบ TikTok เพราะไม่ได้ไปสอนตามห้องเรียน แต่ถ้าวันนี้ครูยังสอนหนังสืออยู่ ครูชอบห้องเรียนมากกว่า เพราะระดับความรู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอาจจะเรียนจบนอก แต่อยากมาปัดฝุ่นความรู้ แต่บางคนความรู้เป็นศูนย์ มันหาจุดตรงกลางไม่ได้ ในขณะที่ในห้องเรียนจริงๆ มีเด็กที่เก่งบ้าง ไม่เก่งบ้าง แต่เราก็ยังคุยเรื่องเดียวกัน เรียนเรื่องเดียวกันอยู่”
“แต่ TikTok ก็มีข้อดี คือได้ผู้คนเยอะกว่า บางครั้งมีคนเข้ามาฟังพร้อมกัน 200 คนก็มี แต่ครูก็ไม่ทราบว่าทุกคนเข้าใจเหมือนกันหมดหรือเปล่า”
ครู vs อาจารย์
หลังจากที่คุยกันมาจนถึงจุดนี้ เราเริ่มตั้งข้อสังเกตได้ว่า ครูปุ้มเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ทำไมจึงเรียกแทนตัวเองว่า ‘ครู’ เราจึงถามครูปุ้มว่าตกลงแล้ว ครูปุ้มเป็นครู หรืออาจารย์กันแน่?
ครูปุ้มคลายความสงสัยนี้ด้วยการเล่าว่า “คำว่า ‘ครู’ เป็นทั้งตำแหน่ง และอาชีพ แต่คำว่า ‘อาจารย์’ เป็นแค่ตำแหน่ง”
“คำว่าครูมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน มากกว่าคำว่าอาจารย์ สำหรับครูแล้ว ครูชอบคำว่าครูมากกว่า”
“นิสิตที่จุฬาฯ สอนจนเกษียณก็เรียกครูว่าครูปุ้ม ซึ่งชอบนะ เพราะคำว่าอาจารย์ดูห่างเหิน เมื่อเทียบกับคำว่าครู แล้วยิ่งในวัย 60 ปี เด็กๆ ยังเรียกเราว่าครู บวกกับชื่อเล่น มันดูสนิทดี มีเรื่องอะไรก็คุยกันได้ง่ายกว่าเป็นอาจารย์”
“ตลอดเวลาที่เป็นครูที่จุฬาฯ จะมีหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา มีนิสิตในการดูแลสิบกว่าคน ในห้องพักครูก็จะมีนิสิตเข้ามาหา ซึ่งไม่ใช่สิบกว่าคนที่เป็นที่ปรึกษาเลย เขาเข้ามาปรึกษาเรื่องเรียนบ้าง เรื่องชีวิตบ้าง คล้ายๆ กับอยากได้แรงสนับสนุน”
“ครูให้คำปรึกษากับเขาได้ทุกเรื่อง เขาไว้ใจเราต่อจากคนที่บ้าน การเป็นนักเรียน นิสิต หรืออะไรก็ตาม เราใช้เวลาที่โรงเรียนเยอะ ตั้งแต่เช้าจนเย็น ถ้าไม่มีคุณพ่อ คุณแม่ที่คอยดูแล ก็มีครูนี่แหละที่ดูแลเขา”
“มันทำให้เขารู้สึกผูกพัน ว่าเขาเรียบจบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่ตึก หรือกระดาน แต่ยังมีครูที่จะสร้างสายใยกับลูกศิษย์ การเป็นครูจึงมีความหมาย”
คุณพ่อคือดวงประทีป
หลังจากที่คุยกันมานานเกือบ 1 ชั่วโมงเต็มๆ เชื่อว่าคุณผู้อ่านคงจะรับรู้ได้ถึงความรู้ และประสบการณ์ที่ครูปุ้มมีในวันนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามีบุคคลสำคัญ ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง มีอิทธิพลทางความคิด ที่ทำให้ครูปุ้มกลายเป็นครูปุ้มในวันนี้อย่างแน่นอน
เรื่องนี้ครูปุ้มเล่าว่า ในชีวิตของครูปุ้มได้รับอิทธิพลทางความคิดจากหลายๆ คน ตามช่วงวัยที่ต่างกันออกไป แต่คุณพ่อ เป็นคนแรกที่ครูปุ้มนึกถึง
“ครูให้เครดิตคุณพ่อเต็มๆ ถ้าไม่มีคุณพ่อ คงจะไม่มีดวงประทีป หรือสิ่งที่ทำให้มองเห็น คุณพ่อเป็นเหมือนแสงสว่างที่ทำให้ครูอยากได้ดี”
“ระหว่างทางก็มีคุณครู ถ้าเขาพูด เขาสอนแบบนั้นได้ ในวันที่เราอายุเท่าเขาเราก็เป็นแบบเขาได้เหมือนกัน เราก็จะเป็นครูแบบนี้”
“แต่ละช่วงเวลาก็จะมีคนที่ผุดขึ้นมา แต่อาจจะจำชื่อได้ไม่หมด แต่จำได้ว่าสิ่งที่ได้รับมาคืออะไร”
“พอวัยทำงานก็เห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่ เราได้มองว่าเขาขยัน เราก็ขยันได้ เราก็ต้องทำให้เด็กของเราได้ความรู้ แรงบันดาลใจมันเกิดขึ้นเรื่อยๆ”
ในทางกลับกัน แน่นอนว่าจากความรู้ และประสบการณ์ที่ครูปุ้มมี ครูปุ้มย่อมต้องกลายเป็นอีกหนึ่งคนที่เข้าไปมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนอื่นๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการส่งต่อความรู้ หรือที่ครูปุ้มเรียกว่าการ ‘คายตะขาบ’ กระตุ้นให้ใครสักคนหนึ่งเกิดใจรักในภาษาอังกฤษขึ้นมา
“จากคลิปที่ครูทำ ครูได้คายตะขาบไปให้เขาเยอะเหมือนกัน ครูพยายามถามว่า คุณมี Passion แล้วหรือยัง?”
“Passion แปลว่าใจรัก ไม่ได้แปลว่าความหลงใหล ถ้าคุณมีใจรักกับภาษา หรือในเรื่องอะไรก็ตาม คุณจะหาช่องทางไปได้เอง ถ้าเราจัดเวลาให้ตัวเองได้ เราจะไม่ต้องการทางลัด”
ความพยายามในการคายตะขาบ ส่งต่อความรู้ที่ครูปุ้มมีจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเครื่องมือสำคัญอย่าง Social Media ที่ครูปุ้มใช้เป็นห้องเรียนสมัยใหม่ ที่ช่วยให้ครูปุ้มเข้าถึงนักเรียน หรือคนทั่วไปที่สนใจเรียนภาษาอังกฤษ ได้มากกว่าการสอนในห้องเรียนแบบเดิม ซึ่งนี่ก็นับว่าเป็นข้อดีอันทรงพลังของ Social Media
แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Social Media ก็เป็นดาบสองคม ที่มีทั้งข้อดี และข้อเสียในเวลาเดียวกัน
“ทุกวันนี้การสื่อสารแบบที่ได้คุยกันจริงๆ มันน้อยลง และคนมีความอดทนต่ำ การใช้ Social Media เราไม่รู้อารมณ์จริงๆ ของคน การส่งข้อความผ่านไลน์คำว่า ‘แล้วไง’ ตีความได้หลายแบบ หลายน้ำเสียง มันก็ทำให้แปลเจตนาไม่ถูก”
“การสื่อสารระหว่างมนุษย์น้อยลงในด้านจิตใจ แม้จะดูเยอะในด้านการส่งสารถึงคนจำนวนมาก แต่ความผูกพัน และสายใยมนุษย์ลดน้อยลง”
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวทั้งหมดของ ครูปุ้ม ปทมา อัตนโถ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ใช้เวลาว่างหลังเกษียณอายุ ไปกับการเป็น ‘ครู’ สอนภาษาอังกฤษใน TikTok แบบ Full Time ที่พร้อมส่งต่อความรู้ด้านภาษาให้กับลูกศิษย์แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีทางลัด มีแต่เคล็ดลับที่ครูปุ้มพร้อมจะแบ่งปัน