หมอที่ผสมศาตร์การรักษาระหว่าง “การเแพทย์” และ “ธรรมะ” ได้อย่างลงตัว
Dr.V หมอที่ผสมศาตร์การรักษาระหว่าง “การเแพทย์” และ “ธรรมะ” ได้อย่างลงตัว
Introduction
- “ธรรมะ” กับ “แพทย์” 2 ศาสตร์ที่เป็นเรื่องเดียวกัน
- เยียวยาวคนไข้ได้ แต่อย่าลืมรักษาใจตัวเอง
- “ความสุข” คือภาวะแห่ง “ความไม่ทุกข์” ของจิตใจ
ใครจะไปคิดว่าการประกอบอาชีพหมอรักษาคนไข้แบบ Full Time กับการเป็น Influencer ศาสตร์สองด้านที่มีความแตกต่างเหมือนคู่ตรงข้าม แต่กลับหลอมรวมกันได้อย่างลงตัว
คุณหมอวีเริ่มต้นการพูดคุยกับเราด้วยการเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการผันตัวจากคุณหมอ Full Time สู่การเป็น Influencer ว่าจริงๆ แล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงทำช่อง YouTube ใน 2 ปีที่ผ่านมา แต่ต้องนับย้อนไปเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของ Facebook ในประเทศไทยเลยก็ว่าได้
“เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ผมเปิดเพจชื่อ ‘คลีนิคแพทย์วีระพันธ์’ ขึ้นมา เพราะต้องการทำประโยชน์ หลังจากที่ลาออกจากการรับราชการ แต่รู้สึกว่ายังทำประโยชน์อะไรได้อีกมาก จึงเอาความรู้ที่ผมมีมาเขียนบทความ ลงในเพจ จนมีผู้ติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลักร้อย กลายเป็นหลักพัน จากหลักพัน กลายเป็นหลักหมื่นในที่สุด”
ส่วนช่อง YouTube Dr.V Channel เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จากความรู้สึก ‘ขี้เกียจ’ เขียนบทความ ทำให้คุณหมอวีตัดสินใจทดลองทำคอนเทนต์ด้วยวิธีใหม่ๆ นั่นคือการไลฟ์สด และถ่ายคลิปวิดีโอนั่นเอง โดยยังไม่ทิ้งความตั้งใจที่จะเป็นคุณหมอที่สามารถพูดคุยกับคนไข้ได้ทุกเรื่อง เหมือนมีเพื่อนเป็นคุณหมอในคอนเซ็ปต์ Your friend is a doctor
“บทความนึงผมต้องใช้เวลาในการเขียน ก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าพูดแล้วบันทึกไปลงใน Facebook ก็ดีนะ เพราะผู้ติดตามจะได้เห็นคาแรกเตอร์ของผมด้วย”
“พอเป็น Facebook Live แล้วมีคนดูเยอะมาก เนื่องจากมีเพจเดิมเป็นพื้นฐาน ก็เลยคิดว่าควรมีอีกช่องทางนึงก็คือ YouTube เลยจับพลัดจับผลูมาเปิดช่อง YouTube ที่ชื่อว่า Dr.V Channel”
หากคุณผู้อ่านลองเปิดเข้าไปดูที่ Dr.V Channel ทั้งใน Facebook และ YouTube จะพบว่าคอนเทนต์ของคุณหมอวี ค่อนข้างมีความหลากหลาย แต่แน่นอนว่าต้องยืนพื้นที่เรื่องการแพทย์ และสุขภาพอย่างแน่นอน
“เนื่องจากผมเป็นประสาทศัลยแพทย์ เชี่ยวชาญเรื่องสมอง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คนไข้ส่วนใหญ่ที่ผมเจอก็จะเป็นคนไข้อัมพฤกษ์ รวมถึงคนไข้โรคความดัน ไขมัน และเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่พ่วงมากับโรคอัมพฤกษ์ ดังนั้นคอนเทนต์ของผมก็จะเป็นไปในแนวทางนี้ มีทั้งสอนการป้องกันไม่ให้เป็นโรคอัมพฤกษ์ และการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันโรคประจำตัวที่จะเกิดขึ้น”
นอกจากนี้ โควิด-19 ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่คุณหมอวีเลือกที่จะหยิบยกมาเล่าอยู่บ่อยครั้งด้วยเช่นกัน เพราะย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ผู้คนทั่วโลกต่างหวาดวิตกกับโรคระบาดใหม่นี้เป็นอย่างมาก การหยิบยกเรื่องโควิด-19 ของคุณหมอวี จึงเป็นสิ่งที่คลายความวิตกกังวลให้กับคนไทยได้ไม่น้อย
สิ่งที่อาจทำให้หลายๆ คนแปลกใจ นอกจากคุณหมอวี จะเป็นหมอที่มีความเชี่ยวชาญสามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ และการรักษาสุขภาพร่างกายได้แล้ว คุณหมอวี ยังเป็นผู้ที่มีความหลงไหลในเรื่อง ‘ธรรมะ’ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่รักษาร่างกาย แต่รักษาจิตใจให้แข็งแรง
ธรรมะ กับการแพทย์ ศาสตร์ 2 ด้านที่เป็นเรื่องเดียวกัน
แม้ว่าการเป็นหมอ กับเรื่องธรรมะ หากมองแบบผิวเผินคงดูเป็นเหมือน 2 ศาสตร์ที่อยู่ตรงข้ามกัน แต่ในความจริงแล้ว คุณหมอวีอธิบายว่า “ธรรมะ กับการแพทย์ คือเรื่องเดียวกัน”
“วิทยาศาสตร์ คือ ซับเซ็ตของศาสนา วิทยาศาสตร์พยายามพิสูจน์ความจริง ถ้าเหตุแบบนี้ ผลก็จะเกิดแบบนี้ นี่คือวิทยาศาสตร์ และต้องมีข้อแม้ด้วยว่าถ้าทำซ้ำแบบเดิม ผลก็จะเป็นแบบเดิม”
“ส่วนธรรมะ คือสิ่งที่มากกว่าความเป็นวิทยาศาสตร์ มีธรรมะอยู่หลายเรื่องที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เพราะยังมีเหตุหลายอย่างที่ทำไม่ได้ เราจึงยังไม่เห็นผลของมัน แต่หากเราสามารถพิสูจน์มันได้ ธรรมะก็คือวิทยาศาสตร์”
“ถ้าไปคุยถึงเครื่องบินในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนนั้นวิทยาศาสตร์ก็มีในระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้าไปพูดว่ามีเหล็กลอยบนฟ้าได้ ผมว่าคนสมัยก่อนคงไม่เชื่อ นั่นก็คือวิทยาศาสตร์สมัยก่อน”
เมื่อคุณหมอวีสนใจในเรื่องของธรรมะ ในฐานะสิ่งที่พิสูจน์ได้ตามหลักความเป็นจริงของโลก นั่นทำให้คุณหมอวี เลือกที่จะนำหลักของธรรมะเข้าไปประยุกต์ใช้กับการทำงานในฐานะคุณหมอที่ทำหน้าที่รักษาคนไข้ด้วยเช่นกัน
“คนไข้ที่มาหาผมแต่ละคน เขามาด้วยปัญหา เขาไม่ใช่หุ่นยนต์ที่แขนเสีย ขาเสีย แล้วมาซ่อม แต่เขามีจิตใจ บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว บางคนภรรยากำลังตั้งครรภ์ บางคนต้องเลี้ยงดูพ่อแม่”
“คนที่ป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์ เขาไม่ได้เสียแค่แขนขา แต่เขาเสียความมั่นใจ เสียงาน เสียวิถีชีวิตของเขาไป คนในครอบครัวต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตหมดทุกอย่างเลย”
เมื่อเข้าใจปัญหา และความเจ็บป่วยที่คนไข้ทุกคนต้องเจอ ทำให้คุณหมอวี ยึดหลัก พรหมวิหาร 4 ซึ่งประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นธรรมะที่ใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องความเมตตา ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการประกอบอาชีพเป็นหมอ ต้องมีความเมตตาต่อคนไข้ เพราะคนไข้ไม่ใช่หุ่นยนต์
ความเมตตาที่มีต่อคนไข้ในที่นี้ คือการมองคนไข้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยากด้วยอาการเจ็บป่วยเหมือนเพื่อน และช่วยให้คนไข้หลุดพ้นจากความตกทุกข์ได้ยากนั้น นอกจากการให้การรักษาตามหน้าที่ของหมอแล้ว การให้กำลังใจก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญเช่นกัน
“ระหว่างหมอคุยกับคนไข้เฉยๆ กับหมอเข้าไปจับแขนจับขา และให้กำลังใจว่าเดี๋ยวก็หายนะ ความรู้สึกของคนไข้ต่างกัน ผมก็พยายามทำตรงนั้น ซึ่งเป็นธรรมะ ก็คือหลักพรหมวิหาร 4 ที่นำมาใช้กับหลักวิชาชีพแพทย์”
เยียวยาจิตใจคนไข้ แต่อย่าลืมรักษาใจของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ความเมตตากรุณา จะเป็นหลักสำคัญของวิชาชีพแพทย์ ที่คุณหมอวีให้ความสำคัญ แต่ในอีกมุมหนึ่ง จิตใจของคนที่เป็นหมอเองก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะในแต่ละวันปฎิเสธไม่ได้เลยว่า คนที่เป็นหมอ จะต้องเจอกับเรื่องราวความทุกข์ ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจของคนไข้ที่เข้ารับการรักษา ซึ่งแน่นอนว่าในบางครั้ง หมอ ก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่อาจเก็บเอาความทุกข์ของคนไข้เข้ามาอยู่ในจิตใจของตัวเองอย่างไม่รู้ตัว
“บางครั้งก็ร้องไห้ไปกับคนไข้ เพราะความรู้สึกแบบนี้ เป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีสติ คอยกำกับใจว่า ผมช่วยเขาเต็มที่แล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ไม่มีใครสามารถหนีการเกิดแก่เจ็บตายไปได้”
“สำคัญที่สุดคือต้องมีสติ ว่าตอนนี้เรากำลังซึมซับความทุกข์ของคนอื่นๆ เข้ามามากเกินไปแล้ว ต้องตั้งสติให้ได้”
รักษาอาการแขนหัก จุดประกายความฝันอยากเป็นหมอ
หลังจากคุยกันเรื่องธรรมะที่แสดงให้เห็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของหมออย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่แค่การรักษาร่างกายที่เจ็บป่วย แต่ต้องรักษาใจของคนไข้ให้แข็งแรงไปพร้อมๆ กันด้วย ทำให้เราเกิดการตั้งคำถามว่าอะไรจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณหมอวี เลือกที่จะประกอบอาชีพเป็นหมอแบบในทุกวันนี้คุณหมอวีตอบคำถามนี้ ด้วยการนึกย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในวัยเด็ก ที่ในช่วงเวลานั้นคุณหมอวีประสบอุบัติเหตุจากการเล่นเครื่องออกกำลังกายในโรงเรียนจนแขนหัก
“คุณพ่อคุณแม่พาไปโรงพยาบาล ไปเจออาจารย์หมอใจดีคนหนึ่งเป็นคนผ่าตัดให้ ผมยังจำชื่ออาจารย์หมอคนนั้นได้อยู่เลย เขาชื่ออาจารย์หมอธนิต เป็นคนใจดีมาก พอผ่าตัดเสร็จ เขาก็เข้าเฝือกให้ผม ติดตามอาการกันไปเป็นเดือน มีการนัดตัดไหม และเอาเหล็กที่ดามไว้ออก”
“หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ที่โรงเรียนให้เขียนเรียงความว่าโตขึ้นมีความฝันอยากเป็นอะไร ผมก็เขียนเรียงความว่าผมอยากเป็นหมอ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่ได้มีความรู้สึกแบบนั้น ในตอนนั้นชัดเจนมากว่าเขียนเรียงความว่าอยากเป็นหมอ เพราะอาจารย์หมอธนิต”
เหตุการณ์เล็กๆ นี้เอง กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ ‘เด็กชายวีระพันธ์’ กลายเป็น ‘คุณหมอวีระพันธ์’ ได้อย่างในทุกวันนี้ และหลังจากเวลาผ่านไปหลายสิบปี คุณหมอวี ก็ได้ส่งต่อแรงบันดาลใจนี้ต่อให้กับเด็กๆ คนอื่นเช่นเดียวกัน
เพราะเวลาที่คุณหมอวีเจอเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกหลานของคนไข้ คุณหมอวีก็จะเข้าไปพูดคุย ลูบหัวด้วยความเอ็นดู และถามว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร”“ผมคิดว่าผมคงได้เปลี่ยนคนบางคนให้มีความรู้สึกอยากเป็นหมอ คิดว่ามี พลังแห่งความหวังดีก็จะส่งไปถึงเด็กคนนั้นได้”
ความสุข คือภาวะแห่งความไม่ทุกข์ของจิตใจ
เมื่อคุยกันมาถึงจุดนี้ ชีวิตของคุณหมอวีเรียกได้ว่าใช้เวลาแทบจะทุกวินาทีไปกับการช่วยเหลือผู้อื่น ให้หายจากอาการเจ็บป่วย เราจึงถามคำถามที่ว่า อะไรคือความสุขในชีวิตของคุณหมอวี ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากการทำงาน จากการทำคอนเทนต์ หรือแม้แต่ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน
คุณหมอวีเริ่มต้นตอบคำถามนี้ด้วยความสุขในการทำคอนเทนต์ ว่ามีความสุขทุกครั้งที่มีคนดู มีคนกดไลก์ กดแชร์ หรือแสดงความคิดเห็น
อย่างไรก็ตามความสุขข้างต้น เป็นความสุขที่ได้รับจากการชื่นชมของคนอื่นๆ ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เพราะอย่าลืมว่า เมื่อมีคนชื่นชม ก็ต้องมีคนติฉินนินทาเป็นของคู่กัน ดังนั้นความสุขที่แท้จริงในการทำคอนเทนต์ของคุณหมอ จึงเป็นการได้ทำตามความต้องการของตัวเอง ที่จะช่วยให้คนอื่นๆ ได้ประโยชน์จากการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่างๆ รวมถึงเรื่องธรรมะ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ติดตามคลายความวิตก จากสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันไม่มากก็น้อย
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความสุขในรูปแบบอื่น นอกเหนือจากการทำคอนเทนต์ คุณหมอให้นิยามความสุขเอาไว้ว่า ความสุข คือภาวะแห่งความไม่ทุกข์
“ความสุขคือความไม่ทุกข์ คิดอะไรแล้วได้ในสิ่งที่คิด นั่นก็คือความสุขที่ทุกคนควรมีได้ แต่จะได้มาก หรือได้น้อยก็อีกเรื่อง แต่ผมว่ามันไม่ใช่ความสุขที่จริงแท้ เพราะความสุขแบบนี้มันเกิดจากการที่ต้องได้”
“ดังนั้นความสุขที่ผมรู้สึกว่าดีกว่านั้น มันคือความไม่ทุกข์ มองเห็น และยอมรับสภาพทุกอย่างตามความเป็นจริง ซึ่งสิ่งนี้อาจไม่ได้เรียกว่าความสุข แต่เป็นความไม่ทุกข์ที่ทุกคนสมควรได้”
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ คุณหมอวี วีระพันธ์ สุวรรณนามัย เจ้าของเพจ Dr.V Channel คุณหมอ และ Influencer สายสุขภาพ ที่ใช้ธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และการทำงาน รักษาคนไข้ให้หายจากอาการเจ็บป่วย ไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนไข้ ให้มีกำลังใจสู้กับการรักษา พร้อมทั้งอยากส่งต่อเรื่องราวดีๆ ในฐานะ Influencer สายสุขภาพ ที่ทำให้ผู้ติดตามมีความสุขอย่างแท้จริง