“คุณภาพ” ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือ “วัฒนธรรม” ที่ต้องสร้างให้ยั่งยืน
ในระบบบริการสุขภาพ “คุณภาพ” ไม่ใช่เพียงแค่ตัวชี้วัด หรือเอกสารที่กำหนดแนวทางการรักษา แต่คือสิ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตของผู้คน หากมาตรฐานเหล่านี้ไม่แข็งแกร่ง ระบบบริการสุขภาพก็จะเต็มไปด้วยความเสี่ยง และความปลอดภัยของผู้ป่วยก็อาจถูกลดทอนลง
แต่จะทำอย่างไรให้คุณภาพกลายเป็น “วัฒนธรรม” ที่หยั่งรากลึก ไม่ใช่เพียงกฎระเบียบที่ถูกบังคับใช้?
วันนี้ 9Conversations มีโอกาสได้พูดคุยกับ พญ. ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ หรือ หมอนุ้ย ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) หนึ่งในบุลคลที่ขับเคลื่อนมาตรฐานคุณภาพสถานพยาบาลของไทยมากว่า 25 ปี
งานประชุมวิชาการของ สรพ. ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ไม่ใช่เพียงแค่เวทีสัมมนา แต่เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงคนทำงานจริงให้มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสร้างมาตรฐานคุณภาพระบบบริการสุขภาพร่วมกัน ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 25 กับธีม “Building Quality and Safety Culture for the Future” ที่ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาคุณภาพต้องไม่ใช่แค่การกำหนดมาตรฐาน แต่ต้องกลายเป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วม
เราจะพาคุณไปเจาะลึกว่า 25 ปีของ สรพ. ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในระบบบริการสุขภาพของไทย และก้าวต่อไปของคุณภาพสถานพยาบาลจะเป็นอย่างไร

บทบาทของ สรพ. ในการยกระดับบริการสุขภาพไทย
“เราเริ่มต้นจากงานประชุมวิชาการครั้งแรกเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเป็นเพียงเวทีเล็กๆ สำหรับการมอบใบประกาศนียบัตรให้กับโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรอง แต่สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือ คนทำงานในระบบบริการสุขภาพมีความต้องการพื้นที่ที่มากกว่านั้น พวกเขาไม่ได้ต้องการแค่ ‘ใบรับรอง’ แต่ต้องการแรงบันดาลใจ ต้องการพบปะคนที่เข้าใจความท้าทายในงานของพวกเขา นั่นคือจุดเริ่มต้นของการประชุมที่เติบโตขึ้นจนถึงทุกวันนี้”
“งานนี้เป็นมากกว่างานประชุมวิชาการ มันคือพื้นที่พบญาติหรือกัลยาณมิตรของคนที่มีหัวใจเดียวกัน”
พญ. ปิยวรรณย้ำว่า การพัฒนาคุณภาพไม่ได้เป็นแค่เรื่องของมาตรฐานทางเทคนิค แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องซึ่งอาศัย “พลังใจ” และการเห็น “คุณค่า” ของการพัฒนา การที่โรงพยาบาลต่างๆ ได้มาแลกเปลี่ยน ทำให้พวกเขาเห็นตัวอย่างที่เป็นไปได้ เห็นว่ามีคนที่เผชิญความท้าทายแบบเดียวกัน และสามารถก้าวข้ามไปได้ การประชุมจึงเป็นเหมือนแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและเติมพลังใจ
“ทุกปี เรามีธีมของงานประชุมที่ช่วยชี้นำว่าตลอดปีต่อจากนี้เราควรพัฒนาเรื่องอะไร ปีนี้เราพูดถึง Building Quality and Safety Culture เพราะคุณภาพไม่ควรเป็นแค่เป้าหมาย แต่ควรบ่มเพาะให้เกิดวิถีปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรม เมื่อกลายเป็นวัฒนธรรม มันจะนำไปสู่ความยั่งยืน”
ปีนี้สรพ.จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร?
“การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ในหลายระดับ แต่สิ่งที่เราผลักดันในปีนี้คือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น”
Kick-off 2 โครงการสำคัญ ที่จะช่วยขยายขอบเขตของคุณภาพสถานพยาบาลไปไกลกว่ากรอบเดิม ได้แก่
“ในปีนี้ เรามี การ kick-off โครงการสำคัญสองเรื่อง อย่างแรกคือการเปิดตัว แอปพลิเคชัน ‘บอกคุณ’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ประชาชนสะท้อนคุณภาพของโรงพยาบาลได้โดยตรง และอย่างที่สองคือการผลักดันแนวคิด People Safety ซึ่งขยายขอบเขตจากการดูแลผู้ป่วยไปสู่การดูแลบุคลากรทางการแพทย์และก้าวไปถึงประชาชน”
เธออธิบายว่า การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องของโรงพยาบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องของระบบทั้งหมด และประชาชนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบ
“ถ้าเราพัฒนาโดยไม่มีเสียงของประชาชน มันจะเป็นการพัฒนาในกรอบที่ไม่สมบูรณ์ แอป ‘บอกคุณ’ จะช่วยให้ประชาชนมีบทบาทมากขึ้น พวกเขาสามารถสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับบริการที่ได้รับ และข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปพัฒนาระบบต่อไป”

“โรงพยาบาลที่ดี” ไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่อยู่ที่ “คุณภาพ” ที่ประชาชนได้รับ
เมื่อพูดถึง “โรงพยาบาลที่มีคุณภาพ” หลายคนอาจนึกถึงสถานพยาบาลขนาดใหญ่ เครื่องมือแพทย์ล้ำสมัย หรือการบริการที่รวดเร็วสะดวกสบาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณภาพของโรงพยาบาลไม่ได้วัดจากราคา หรือความหรูหรา แต่วัดจากสิ่งที่ประชาชนได้รับ ทั้งในแง่ของมาตรฐานการรักษา และความพึงพอใจในการบริการ
พญ. ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ อธิบายว่า “คุณภาพ” ในโรงพยาบาลมีอยู่ 2 มิติหลัก
1. Expected Quality หรือ คุณภาพที่คาดหวัง เป็นสิ่งที่ทุกโรงพยาบาลควรมี นั่นคือ การดูแลรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตราย
2.Attractive Quality หรือ คุณภาพที่สร้างความพึงพอใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคล เช่น ความสะดวก รวดเร็ว หรือบริการที่เป็นมิตร
“มาตรฐานคุณภาพที่แท้จริง ต้องมีทั้งสองมิติ แต่จะให้ความสำคัญในระดับที่แตกต่างกันไป บางคนอาจต้องการโรงพยาบาลที่ให้บริการรวดเร็ว แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่บางคนอาจเลือกโรงพยาบาลของรัฐ เพราะมีมาตรฐานการรักษาที่เชื่อถือได้ แม้อาจต้องใช้เวลามากขึ้น”
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ “โรงพยาบาลที่ดี” ไม่ได้หมายถึงโรงพยาบาลเอกชน หรือรัฐ แต่คือโรงพยาบาลที่สามารถตอบโจทย์คุณภาพทั้งสองมิติได้อย่างสมดุล โดย มาตรฐานความปลอดภัยต้องมาก่อน และคุณค่าเพิ่ม (Value Added) อย่างความสะดวกสบาย หรือความเป็นกันเอง เป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปตามแต่ละแห่ง
มากกว่าการรักษา คือ “การใส่ใจ”
สิ่งที่ สรพ. กำลังผลักดัน คือการทำให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ไม่ได้มองแค่การรักษาให้หาย แต่ต้องคำนึงถึง “การดูแล” อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่นำไปสู่การประชุมและพัฒนา Quality 3.0 หรือการออกแบบระบบบริการที่มีทั้งผู้ให้และผู้รับบริการเข้ามามีส่วนร่วม
“คุณภาพที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแค่ฝั่งโรงพยาบาลเป็นผู้กำหนดมาตรฐานฝ่ายเดียว แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมสะท้อนคุณภาพที่ได้รับด้วย”
การมองคุณภาพผ่านมิติต่างๆ ไม่เพียงช่วยให้ประชาชนเข้าใจว่า โรงพยาบาลที่ดีไม่ได้วัดจากราคา แต่ยังช่วยผลักดันให้ระบบบริการสุขภาพของไทยก้าวไปข้างหน้า บนพื้นฐานของ ความปลอดภัย ความพึงพอใจ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

AI และเทคโนโลยี พันธมิตรใหม่ของโรงพยาบาล
ปัจจุบัน เทคโนโลยีและ AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ แต่คำถามสำคัญคือ “เราจะใช้ AI และเทคโนโลยีอย่างไรให้ปลอดภัย?”
พญ. ปิยวรรณอธิบายว่า มาตรฐาน HA ของ สรพ. ได้บูรณาการแนวคิดเรื่อง Digital Healthcare เข้าไปแล้ว โดยเน้นหลักการสำคัญ 3 ข้อ
1.”เรามองว่าเทคโนโลยีต้องเป็น ตัวช่วย ไม่ใช่ ตัวตัดสิน และต้องมีระบบที่สามารถบริหารความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย” โรงพยาบาลที่ใช้ AI ในการวินิจฉัยโรค ต้องมีแพทย์เป็นผู้ทานสอบเสมอ
2.ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาก่อน เทคโนโลยีใหม่ๆ ต้องมีมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและคัดกรองใช้กับกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม
3.ระบบต้องโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ – การนำเทคโนโลยีมาใช้ต้องมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ
“เราอัปเดตมาตรฐานทุก 4 ปีให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และฉบับปัจจุบันก็เริ่มบูรณาการเรื่องดิจิตัลเทคโนโลยี รวมถึงรองรับการใช้ AI ในอนาคตในระบบบริการสุขภาพ แต่สุดท้ายแล้ว มันต้องถูกใช้อย่างปลอดภัยและอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคลากรทางการแพทย์”
ในอนาคต สรพ. ยังเตรียมปรับปรุงมาตรฐานให้สอดคล้องกับ แนวทางการรับรองคุณภาพระดับสากล เพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
สุดท้ายนี้ คุณหมออยากฝากอะไรถึงบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน
“อยากให้บุคลากรทางการแพทย์มองว่ามาตรฐานคุณภาพไม่ใช่ภาระ แต่มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นและปลอดภัยขึ้น สำหรับประชาชน ถ้าเห็นโลโก้ HA ที่โรงพยาบาล แสดงว่าโรงพยาบาลแห่งนั้นได้เปิดกว้างให้หน่วยงานภายนอกประเมินและรับรองระบบการทำงานที่มีมาตรฐานระดับประเทศ”
หากคุณยังลังเลว่าจะเลือกโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองคุณภาพดีหรือไม่ ให้ลองเงยหน้ามองหา โลโก้ HA ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงมาตรฐานและความปลอดภัย
โลโก้นี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องหมายรับรองคุณภาพสถานพยาบาล แต่เป็นคำสัญญาว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ได้ตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับประชาชน เพราะสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ไม่ได้รับรองเพียงเพื่อต้องการแจกใบประกาศนียบัตร แต่ทำเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า เมื่อก้าวเข้าไปในโรงพยาบาล พวกเขาจะได้รับบริการสุขภาพที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้เกิดคุณภาพและความปลอดภัยกับประชาชน

ท้ายนี้ หากคุณคือบุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ที่สนใจการยกระดับมาตรฐานบริการสุขภาพ งานประชุมวิชาการ HA National Forum ครั้งที่ 25 คือโอกาสสำคัญที่ไม่ควรพลาด ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางพัฒนาระบบสุขภาพภายใต้หัวข้อ “สร้างวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อความยั่งยืนในอนาคต” (Building Quality and Safety Culture for the Future Sustainability)
พบกันระหว่างวันที่ 18 – 21 มีนาคม 2568 ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.forumhai.com และ www.facebook.com/HATHAILANDfanpage