เพจผู้บริโภค เส้นทางการโลดแล่นกว่า 8 ปี ของนักรีวิวที่จริงใจ

เส้นทางการโลดแล่นกว่า 8 ปี ของนักรีวิวที่จริงใจ

Introduction

  • คอนเทนต์แรกเกิดจาก “กล้วย”
  • ทำไมต้องเป็น “รูปวัว” หรือ “พี่งัว”
  • เป้าหมายใหญ่ของ “เพจผู้บริโภค”

หลายคนอาจจะเคยได้เห็นเพจ ‘ผู้บริโภค’ ที่เป็นแหล่งรวมตัวผู้บริโภคที่ได้รับปัญหาจากสินค้า แล้วมารวมตัวแชร์เรื่องราวกันผ่านเพจ วันนี้เราชวน ‘คุณหงส์’ ผู้เป็นเบื้องหลังรับบทแอดมินเพจ ผู้บริโภค มาแชร์เรื่องราวในมุมของเขาให้เราได้รู้กันผ่าน 9Conversations

จุดเริ่มต้นของเพจที่ต้องย้อนกลับไปในช่วงที่เป็นยุคเปลี่ยนผ่านจาก โทรทัศน์ ไปสู่ ทีวีดิจิตอล ซึ่งเป็นช่วงที่อินเทอร์เน็ตกำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนมากขึ้น ณ ตอนนั้นยังไม่มีใครที่ทำเพจเกี่ยวกับการผู้แทนความรู้สึกของผู้บริโภค หรือคุณหงส์เรียกว่า ‘สังคมของผู้เสียหาย’ เขาจึงตัดสินใจเปิดเพจผู้บริโภคขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับ ซึ่งตอนนี้เพจกำลังเข้าสู่อายุ 8 ปีแล้ว

คอนเทนต์แรก ‘กล้วย’

    “ไอเดียเริ่มจากตัวผมเองชอบทานกล้วยอยู่แล้ว ข้างล่างคอนโดจะมี FamilyMart และ 7-Eleven ก็เลยเอากล้วยมาเปรียบเทียบกัน แค่นั้นเลย”

    “คนไทยตลอดเวลาจะไม่ชอบอ่าน คอนเทนต์ที่ทำให้คนรู้สึกว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ เหรอ เมื่อคนไทยไม่ชอบอ่าน เราก็แค่เอาข้อมูลมาเทียบกัน คนเลยรู้สึกว่ามันแตกต่างกันด้วยเหรอ” จากคอนเทนต์แรกที่นำฉลากกล้วยมาเปรียบเทียบกันก็ได้รับกระแสที่ดีจากคน เพราะเป็นสิ่งที่คนสงสัย แต่ไม่เคยหาคำตอบ แต่เพจเขาเลือกที่หาคำตอบให้คน จนทำให้มีผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้น และอีกหนึ่งคอนเทนต์ที่ได้รับกระแสที่ดีคือ ‘คอนเทนต์โค้ก กับ เป๊ปซี่’

    “โค้กกับเป๊ปซี่ เป็นสิ่งที่ทุกคนกินอยู่แล้ว แต่มักจะมาเถียงกันว่าอะไรที่หวานกว่ากัน อันไหนดีกว่า หรือไม่ดีกว่า เราเลยคิดว่าทำไมเราไม่ข้อมูลที่อยู่บนฉลากมาเทียบกัน”

    เพจผู้บริโภคเริ่มมาจาก YouTube

    “ในยุคที่ YouTube เข้ามาช่วงแรกๆ ยังไม่มีใครทำคอนเทนต์เกี่ยวกับผู้บริโภค เราจึงใช้ความรู้ทำมันขึ้นมา ต่อมาเป็นการเปิดเพจ Facebook เราคิดว่าเราจะทำยังไงให้ช่องเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น เราจะใช้สื่ออะไรที่จะ PR เราจึงใช้ Facebook Fanpage เป็นเครื่องมือ PR ตัวเรา” ซึ่งในตอนนั้นที่เพจเริ่มเปิด ยังมีการปิดกั้นลิงก์ยูทูป คุณหงส์เลยทำการ Spin off คอนเทนต์ออกมาในลักษณะรูปภาพ 

    “เราจะทำยังไงให้คนรู้สึกว่าเราเป็นเพจข่าวเพจหนึ่ง โดยที่ให้คนไม่รู้สึกว่ามีช่องว่าง จึงทำให้เราตัดสินใจหันมาจริงจังกับเพจมากขึ้น” ในปัจจุบันเพจผู้บริโภคมีคอนเทนต์ผ่านหลากหลายช่องทาง ทั้งเพจ YouTube และ TikTok แต่จะมีลักษณะคอนเทนต์ที่แตกต่างกัน

    “ YouTube คนจะชอบดูอะไรที่ละเอียด คอนเทนต์จะเป็นการเปรียบเทียบกันให้เห็นตั้งแต่ราคา ปริมาตร ใส่ข้อมูลเข้าไป แต่ Facebook คนจะชอบอะไรที่มันเร็วๆ เข้าใจได้ง่าย แชร์ได้เลย ส่วน TikTok ปกติเราทำคอนเทนต์ที่ไม่ได้เคลื่อนไหว แต่บางคอนเทนต์มันจำเป็นต้องเคลื่อนไหว ต้องใส่รายละเอียด เราเลยทำ TikTok เพิ่ม”

    แล้วทำไมต้องเป็นโลโก้รูปวัว และลูกเพจเรียกว่า ‘งัว’ 

    “ผมเป็นคนกวนๆ หน่อย และเราเปรียบผู้บริโภคเป็นคนทำงาน ทุกคนคือ ผู้บริโภค ทำงานเยี่ยงวัว เยี่ยงควาย ซึ่งคำนี้เป็นคำที่แม่ผมบอกผมว่า ทำไมเราทำงานหนักเยี่ยงวัว เยี่ยงควาย ทำให้เราคิดว่าจริงๆ ทุกคนทำงานเพื่อบริโภค ทุกคนคือ ผู้บริโภค แต่จะเลือกใช้ควายอาจจะดูตลกไป เลยเลือกใช้ วัว แทน”

    “คนโบราณชอบเรียก ‘วัว’ ว่า ‘งัว’ เพื่อไม่ให้ซ้ำกับคนอื่น”

    กลุ่มพวกเราคือผู้บริโภค

    “บ้านเราจะมีสาธารณสุขที่รับเรื่อง คือ สคบ. ตอนนั้นที่เราทำเพจ เราแค่รู้สึกว่าผู้บริโภคเขาได้รับความเสียหาย ส่วนใหญ่ตอนที่ไม่มีกลุ่ม เขาจะส่งเรื่องมาที่ Inbox พอส่งเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้เราคิดว่า ถ้าเรามีพื้นที่ให้ผู้เสียหายเข้ามาโพสต์นำเสนอเรื่องได้เอง เลยตั้งกลุ่ม พวกเราคือผู้บริโภค เพื่อเป็นพื้นที่ให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายในการร้องทุกข์” 

    ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีตัวแทนจาก สคบ. ตัวแทนจากเจ้าของสินค้า เรียกได้ว่าทุกคนที่เป็นผู้เกี่ยวข้องจะเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้หมด ซึ่งถ้าเกิดมีผู้บริโภคเข้ามาโพสต์ว่าตนได้รับความเสียหาย ตัวแทนจากผู้เกี่ยวข้องก็จะเข้ามาตอบเองเลยโดยตรง เป็นเหมือนทางลัดที่ผู้บริโภคสามารถแจ้งเรื่องได้เองเลย โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาไปร้องที่สำนักงานราชการ เพจเองก็จะทำหน้าที่ประสานงานให้กับทางราชการด้วยอีกทางเช่นกัน ถือเป็นกลุ่มที่ทำให้ผู้บริโภค และเจ้าของสินค้าได้สื่อสารกันง่ายขึ้น

    ในกลุ่มเกิดเองมักจะดราม่าบ่อย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากคนที่ถูกกล่าวหา หรือเจ้าของสินค้า 

    “ผมเชื่อว่าในการที่จะได้รับความเสียหายอะไร ทุกคนต้องมีหลักฐาน ถ้าไม่มีหลักฐานอาจจะถูกฟ้องร้อง เพราะเกิดการแต่งเรื่อง กลุ่มนี้เกิดขึ้นโดยคัดกรองคนที่เสียหายจริงๆ”

    “ส่วนตัวผมมองว่าในกลุ่มมีความสนุก เพราะเหมือนเป็นการรวมตัวของร้อยพ่อ พันแม่ ทำให้รู้สึกโลกเรามันมีความหลากหลายมากในแง่ของความคิด บางอย่างถ้าเรามองเป็นเรื่องสนุก มันก็สนุก แต่บางอย่างเราคิดว่าปล่อยให้เป็นสิ่งที่สังคมตัดสินเองดีกว่า”

    เราจะไม่รับลูกค้าที่ขายของเฉพาะออนไลน์

    “เราจะรับลูกค้าที่ขายของออนไลน์และออฟไลน์เท่านั้น เพราะในปัจจุบันสินค้าออนไลน์มันเยอะ แต่สิ่งที่การันตีและจับต้องได้ คือ การขายออฟไลน์มีหน้าร้าน เพราะผู้บริโภคบางคนพอเห็นสินค้าแล้วก็จะอยากเห็นของจริง จึงเป็นกฎของการรับลูกค้าที่ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่”

    คิดว่าอะไรที่ทำให้คนติดตามเพจ

    “อาจจะเป็นเพราะภาพจริง เสียงจริง และส่วนตัวผมอยากทำให้เพจเป็นเหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน เราเจออะไรมา เราถ่ายมาให้ดูเลย มันคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นจริง”

    “เราตั้งใจทำให้เพจเป็นเหมือนช่องข่าวช่องหนึ่ง ที่ไม่ค่อยเล่นข่าวในกระแสเท่าไหร่นัก แต่กระแสความเป็นผู้บริโภคมันอาจจะถูกปลุกขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้”

    ถ้าเราผลิตสินค้าเป็นแบรนด์ของตัวเอง

    “มีหลายแบรนด์ที่ติดต่อมาที่จะผลิตสินค้าให้ หรือให้ใช้ชื่อเรา จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีไอเดียที่อยากจะทำ เพราะว่าสินค้าทุกๆ สินค้ามันสำคัญหมด แต่ถ้าจะถามว่าทำอะไรดี ก็จะตอบว่า ‘ของกิน’ เพราะมันขาดไม่ได้”

    อะไรที่เราอยากบริโภค

    “น้ำดื่มครับ ที่เรากินทุกวัน”

    “ส่วนใหญ่เวลาที่เรารีวิวอาหาร เราจะไม่พูดถึงรสชาติ เพราะคุณชอบแบบนั้น ผมชอบแบบนี้ ถ้าผมบอกเป็นรสชาติ แสดงว่าเราไม่เป็นกลาง อร่อยไม่อร่อย ขึ้นอยู่แล้วแต่ผู้บริโภค ชอบไม่ชอบยังไงขึ้นแล้วแต่ความชอบ”

    การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค

    “ผู้บริโภคในปัจจุบันนี้ มีความฉลาดเลือกขึ้น ใช้เงินเป็น เพราะในสมัยก่อนมันไม่ได้มีสื่อแบบนี้ ย้อนไปสมัยก่อนอินเตอร์เน็ตมันไม่ได้บูมขนาดนี้ ดังนั้นการรับสื่อ มันจะมีแค่ทีวีในยุคนั้น แต่ตอนนี้พอมันมีข้อมูลมากขึ้น เราเสพข้อมูลมากขึ้น ทำให้คนเลือกที่จะกิน เลือกที่จะใช้มากขึ้น”

    เป้าหมายของเพจผู้บริโภค

    “ตอนแรกทำมาไม่ได้มีเป้าหมาย แต่พอรู้สึกว่าเป้าหมายมันเริ่มชัดขึ้น เหมือนกับว่าสิ่งที่เราทำในตอนนั้นมันกลายเป็นความจริงจัง พอพูดถึงเรื่องผู้บริโภค คนจะคิดถึงความซีเรียส เครียด แต่ในเรื่องผู้บริโภคมีมุมมองเยอะแยะมากมาย ดังนั้น อยากให้เพจผู้บริโภค เป็นตัวแทนของผู้บริโภคตลอดไป”

    “ทุกวันนี้เราตั้งเป้าว่าเพจเป็นเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ต อย่างน้อยต้องมีสินค้าโพสต์ลงคอนเทนต์ 1-2 สินค้า พอเราทำมาสักพักห้างใหญ่ต่างๆ เขาเล็งเห็นว่ามีคนติดตามเยอะ จะมีห้างบางห้างที่เขาจะส่งลิตส์สินค้าใหม่ในแต่ละเดือนมาให้เรา มันทำให้เรารู้สึกเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าได้ หรือช่วยโปรโมตให้สินค้า SME บ้างก็มี”

    “ไม่ค่อยรับงานรีวิวร้านอาหาร เพราะคิดว่าถ้าลูกค้าบางคนเขาสามารถเอาเงินก้อนหนึ่งไปต่อยอดได้มากกว่าการทำคอนเทนต์กับเรา มันอาจจะดีกว่า”

    ตอนได้รับรางวัล Thailand Influencer Awards

    “ตอนนั้นรู้สึกขำ ขำที่เราทำเพจโดยที่ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่ทุกครั้งที่มีดราม่า หรือมีกระแสเกิดขึ้น มันทำให้เรารู้สึกว่าอย่างน้อยมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น” การรับรางวัลครั้งนั้นเป็นเครื่องยืนยันเป็นเราเป็นตัวแทนของผู้บริโภคจริงๆ 

    ขอบคุณที่ทุกคนติดตามเพจผู้บริโพค เชื่อว่าเป็นเพราะเมื่อเรามีปัญหา แต่เราไม่รู้ว่าจะสามารถพูดกับใครได้ ยังมีเพจผู้บริโภคเป็นพื้นที่ที่คุณสามารถนำเรื่องที่คุณเจอมาพูดได้ และอีกสิ่งที่อยากฝากถึงผู้บริโภคด้วยกันคือ เลือกเยอะๆ เลือกในสิ่งที่ใช้ เลือกในสิ่งที่ชอบก่อนจะซื้อสินค้ามาบริโภค สำหรับวันนี้ได้เห็นถึงความตั้งใจและอยากจะหาคำตอบในสิ่งที่คนสงสัยกัน จนกลายเป็นเพจผู้บริโภคที่มีคนติดตาม และมีผู้เสียหายได้รับการช่วยเหลือจากเพจไปหลายครั้ง หากใครที่ได้ความรับเสียหายจากการบริโภค ให้นึกถึง ‘เพจผู้บริโภค’