จากฝัน … สู่ “Space Pilla Farm” สร้างสรรค์ชุมชนผ่านพลังแห่งการออกแบบ

ท่ามกลางทิวเขาของอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มีฟาร์มเล็กๆ ที่ไม่ธรรมดาชื่อว่า พิลาฟาร์มสตูดิโอ วิสาหกิจชุมชนที่เกิดจากวิสัยทัศน์ของ คุณตั้ม นิพนธ์ พิลา ผู้หลงใหลในงานออกแบบและความยั่งยืน การเดินทางหลากหลายเส้นทางของเขาในวงการแฟชั่นและดีไซน์ ทั้งในและต่างประเทศ ได้หล่อหลอมแรงบันดาลใจให้เขาสร้างพื้นที่แห่งนี้ขึ้นมา ไม่เพียงเพื่อการเกษตร แต่เพื่อเป็น “Hub” ของความคิดสร้างสรรค์และความร่วมมือในชุมชน

งานเทศกาล “Space Pilla Farm” เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้วในฐานะงานเล็กๆ ที่รวมเพื่อนเกษตรกรจาก 20 ฟาร์มมาพบปะพูดคุย ในบรรยากาศเป็นกันเองที่อบอุ่น แต่ในปีนี้ งานได้เติบโตขึ้นจนกลายเป็น Design Village ที่พร้อมเปิดประตูต้อนรับนักคิด นักสร้างสรรค์ และผู้รักชุมชนจากทุกมุมของประเทศ

“Design Village” ฟันเฟืองสู่ความยั่งยืน
ธีมในปีนี้สะท้อนถึงพลังของงานดีไซน์ที่ไม่เพียงแค่สร้างความสวยงาม แต่ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ ตั้งแต่การลดขยะเหลือศูนย์ การใช้พลังงานต่ำ ไปจนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดโลก ด้วยแนวคิด “Local to Global” 

งานในปีนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาร่วมงานมากกว่า 5,000 คน 

ด้วยการสนับสนุนจากพันธมิตรสำคัญ เช่น กระทรวงพาณิชย์ ผ่าน กรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่เข้ามาช่วยผลักดันสินค้าเกษตรท้องถิ่นให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลผ่านเครื่องหมาย GI (Geographical Indication)

นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เข้ามาเป็นพันธมิตรครั้งแรกในปีนี้ พร้อมช่วยประชาสัมพันธ์งานในระดับประเทศ รวมถึง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ผ่านโครงการ New Gen ฮักบ้านเกิด Season 2 และ ธนาคารออมสิน ซึ่งร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นอกจากนี้ยังมี ไทยประกันชีวิต ที่เข้ามาสนับสนุนงานในฐานะพันธมิตร CSR และ Kubota ที่นำเสนอนวัตกรรมเกษตรกรรมล้ำสมัย เช่น รถแทรกเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องหยอดเมล็ดไร้คนขับ

ปีนี้ได้ Tellscore มาร่วมเป็น Media Partner ช่วยกระจายข่าวสารและประชาสัมพันธ์งานผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการขยายการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย

“มิตรมาร์เกต” ตลาดแห่งมิตรภาพและแรงบันดาลใจ
ปีนี้มีกิจกรรมใหม่ที่น่าสนใจอย่าง “มิตรมาร์เกต” ตลาดที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตและผู้สร้างสรรค์จากทั่วประเทศนำสินค้ามาแสดงและจำหน่าย ตั้งแต่มังคุดจากนครศรีธรรมราช เครื่องเงินจากกรุงเทพฯ ไปจนถึงเวิร์กช็อปงานคราฟต์จากนครปฐม งานนี้ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ซื้อขาย แต่ยังเป็นแหล่งช้อปปิ้งไอเดียที่กระตุ้นให้คนในชุมชนได้คิดค้นและพัฒนาสินค้าของตัวเอง

เมื่อเยาวชนและสิ่งแวดล้อมเดินไปด้วยกัน
งานนี้ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นจิตอาสา เรียนรู้การจัดการงานและฝึกประสานงานจริง รวมไปถึง ปีนี้งาน Space Pilla Farm มาพร้อมความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดงานให้ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จุดเด่นที่น่าภูมิใจที่สุดคือการเปิดตัว สถานีรีไซเคิล ครั้งแรกในงาน โดยมีการลดการใช้พลาสติกและโฟมอย่างจริงจัง พร้อมหันมาใช้ภาชนะทางเลือก เช่น จานจากกาบหมากและกาบกล้วยที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ สำหรับพลาสติกรีไซเคิล ก็มีการแยกเก็บเพื่อนำไปบดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ นอกจากนี้ เศษอาหารจากงานยังถูกนำไปทำเป็นชีวภัณฑ์เพื่อประโยชน์ต่อการเกษตร

กิมมิคเล็กๆ อย่างการสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมพกแก้วน้ำส่วนตัวมารับส่วนลด หรือแม้แต่พกเก้าอี้มาเอง เป็นแนวทางสนุกๆ ที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร และที่สำคัญที่สุด จบงานแล้วแทบไม่มีขยะเหลืออยู่เลย

ก้าวสู่อนาคตที่ใหญ่กว่า
ด้วยความฝันที่อยากให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็น “Design Village” ที่แท้จริง คุณตั้มเผยว่างานในอนาคตอาจพัฒนาไปถึงการจัดอีเวนต์ในระดับที่หมู่บ้านทั้งหมดกลายเป็นพื้นที่กิจกรรม ตั้งแต่โรงหนังไปจนถึงโฮสเทล นักท่องเที่ยวจะได้เดินสำรวจไอเดียใหม่ๆ ได้ตลอดเวลาในทุกมุมของชุมชน

คำเชิญชวนจากใจ
“เทศกาล Space Pilla Farm” ในปีนี้จะจัดขึ้นวันที่ 6-7 ธันวาคม 2024 ภายใต้ธีม Design Village หากคุณกำลังมองหาที่เติมพลังไอเดีย หรืออยากสัมผัสบรรยากาศชุมชนที่อบอุ่นและสร้างแรงบันดาลใจ งานนี้คืองานที่คุณไม่ควรพลาด แล้วพบกันที่พิลาฟาร์ม จังหวัดเพชรบูรณ์

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Facebook: Space Pilla Farm