คุณจอห์น รัตนเวโรจน์ ประธานสมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี

ประธานสมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี

Introduction

  • คุณจอห์น รัตนเวโรจน์ ศิลปินชื่อดังในยุค 90 ที่ผันตัวเป็นผู้บุกเบิกรายการเทคโนโลยีคนแรกๆ ของไทย
  • ปัจจุบันคุณจอห์นรับบทบาทเป็นประธานสมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี ที่สร้างความตระหนักรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และคนทั่วไป ให้ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์

เมื่อพูดถึงชื่อ ‘คุณจอห์น รัตนเวโรจน์’ เชื่อว่าหลายๆ คงนึกถึงวงนูโว ศิลปินคุณภาพที่มีเพลงฮิตติดหูตั้งแต่ยุค 90 จนถึงปัจจุบัน ในวันนี้คุณจอห์น รัตนเวโรจน์ ยังคงโลดแล่นอยู่ในวงการเทคโนโลยี เป็นผู้บุกเบิกรายการสายไอที ให้แฟนๆ ได้เห็นหน้ากันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งงานเบื้องหน้า และเบื้องหลัง

นอกเหนือจากการผลิตคอนเทนต์รายการไอทีของ ‘สแพลช อินเตอร์แอ็คทีฟ’ คุณจอห์น ยังมี Passion อีกอย่างหนึ่งที่หลายๆ คนอาจไม่เคยรู้ นั่นคือการทำงานเพื่อสังคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ สร้างความรู้เท่าทันให้กับเด็ก และเยาวชนทั่วประเทศในการใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย ผ่านการทำงานของสมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี ที่คุณจอห์นก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน

สมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี

คุณจอห์น เล่าให้เราฟังถึงสมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ DTech (https://dtech.or.th) ว่า เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน แม้จะดูเหมือนจะเป็นสมาคมน้องใหม่ แต่ความจริงแล้วคุณจอห์นให้ความสนใจกับประเด็นด้านการรู้เท่าทันสื่อ และเทคโนโลยีมาแล้วเกือบ 20 ปี

“ในวันนี้เทคโนโลยีของโลกไปเร็วมาก ผลเสียที่เกิดขึ้นคือความรู้เท่าทันของเราลดลง มีปัญหาที่ผมทำเป็นมองไม่เห็นไม่ได้ ทั้งเรื่องเฟคนิวส์ การแตกแยกกันในสังคม ความเครียด และไม่มีใครหลีกเลี่ยงปัญหานี้ไปได้ เรากำลังเคยชินกับปัญหาเหล่านี้ และมองว่ามันเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว”

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี และการสื่อสารในยุคใหม่นี้ จึงกลายเป็นเหตุผลหลักในการก่อตั้งสมาคมเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยีขึ้นมา

“ก่อนที่จะไปถึงจุดที่ AI จะมาทดแทนการทำงานของมนุษย์ในปี 2030 ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ก่อน”

“เราอยู่ในยุคที่เรียกว่า Attention Economy แพลตฟอร์มต่างๆ เรียกร้องความสนใจจากเรา ทุกวันนี้เราใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ (Screen Time) นานกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 2 เดือนต่อปี”

Digital Vaccine (DV)

ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เอง ทำให้คุณจอห์น และสมาคม มีโครงการที่เรียกว่า Digital Vaccine (DV) เกิดขึ้นมา ซึ่ง Digital Vaccine นี้ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และภูมิความรู้ด้านเทคโนโลยี ให้กับเด็ก เยาวชน และคนทั่วไป ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรม ‘อาสาสมัครเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ (Digital Detective)’

“โครงการ Digital Vaccine ของเรามีทั้งหลักสูตร แพลตฟอร์ม และการสรรหาอาสาสมัคร มีสมาชิกที่ผ่านการอบรม และสอบผ่านประมาณ 700 คน”

หลังจากเริ่มก่อตั้งสมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยีมาได้ประมาณ 2 ปี ปีนี้โครงการ Digital Vaccine เริ่มมุ่งเน้นไปที่การสร้างรากฐานความเท่าทันทางเทคโนโลยีที่ยั่งยืนมากขึ้น

“ในปี 2022 นี้ Digital Vaccine จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจ แก่เด็ก และเยาวชน ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา ไปจนถึงอุดมศึกษา รวมถึงผู้ปกครองด้วย ไม่ได้ทำเพียงกิจกรรมครั้งคราว แต่เป็นสิ่งที่ทำในระยะยาว”

หลังจากคุยกันมาสักพัก เราเริ่มตั้งคำถามกับคุณจอห์นว่า “เป้าหมายในระยะยาวของสมาคมฯ คืออะไร” คุณจอห์นให้คำตอบโดยเปรียบเทียบเป้าหมายกับขบวนรถไฟที่ผู้ร่วมเดินทางทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน

“เรากำลังสรรหาคนที่ขึ้นรถไฟขบวนเดียวกัน ต่างคนต่างมีโบกี้ของตัวเอง แต่วิ่งไปในทิศทางเดียวกัน เป้าหมายคือไปถึงแต่ละสถานี โดยที่ไม่เลี้ยวผิด ไปด้วยความเร็วที่คงตัว ไปถึงเป้าหมายซึ่งเป็นอนาคต และแยกย้ายไปทำตามหน้าที่ของตัวเอง อาจช้าหน่อย แต่ไม่ตกหล่นแน่นอน”

ในช่วงสุดท้ายของการพูดคุย คุณจอห์น ยังให้ข้อมูลที่ทำให้เห็นภาพการทำงานของสมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี หรือการทำงานเพื่อสังคมในรูปแบบอื่นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่ต้องมีเครือข่ายที่ร่วมมือกัน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง

“ผมไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทุกขอบเขตได้ แต่ถ้าหากมีการร่วมมือกัน สิ่งที่ทำก็จะประสบความสำเร็จ”

ทำให้คุณจอห์น เปิดรับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่บริษัทต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ เพื่อสร้างอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ (Digital Detective) นำไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมของโลกไซเบอร์ที่ดี มีทางเลือกในการใช้เทคโนโลยี และบริโภคสื่ออย่างรู้เท่าทัน

ซึ่งในเร็วๆ นี้ เครือข่ายสมาคมเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี กำลังจะเปิดรับสมัครอาสาสมัครเฝ้าระวังไซเบอร์ (Digital Detective) รอบใหม่ หากใครสนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://digitalvaccine.me

ข้อมูลเพิ่มเติมจากการสำรวจพฤติกรรม Screen Time ของคนไทย

จากการเก็บข้อมูลประกอบของ Tellscore พบว่า ‘พฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยี และ Social Media ของคนไทย’ จากพนักงานออฟฟิศในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 50 คน ช่วงอายุ 24 – 45 ปี ทั้งเพศชาย และหญิง ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน เพื่อเติมเต็มให้บทความสัมภาษณ์นี้มีข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น

พบว่า กว่าเกินครึ่ง (62%) ของผู้ตอบแบบสอบถาม ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยคนส่วนใหญ่ (86%) ใช้เวลาเหล่านั้นไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการทำงาน รองลงมาเป็นวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิง (67%) ตลอดจนการติดต่อ สื่อสารถึงบุคคลอื่น (48%)

ส่วน Social Media ยอดนิยม ก็หนีไม่พ้น Facebook, YouTube, Instagram, TikTok, Twitter และ Website ตามลำดับ

ในด้านประเภทของแพลตฟอร์มที่ใช้ ก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับ Social Media ยอดนิยม นั่นคือมีการใช้งานแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิง อย่างการดูภาพยนตร์ ดูซีรีส์ต่างๆ (76%), แพลตฟอร์ม e-Commerce (65%), แอปพลิเคชั่น Online Banking ต่างๆ (48%), แอปพลิเคชั่น Location Service ต่างๆ เช่น Google Map (32%), แพลตฟอร์ม Gaming และ Streaming (34%), และแอปพลิเคชั่นการลงทุน และ Trading ต่างๆ (16%) ส่วนที่เหลือเป็นการใช้งานแอปพลิเคชั่นออกกำลังกาย การศึกษา คูปองสะสมแต้ม และ Cashback (Loyalty Program) ต่างๆ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

ส่วนในด้านการใช้งาน Social Media และ Screen Time ด้วยระยะเวลาที่สูง จนอาจทำให้ส่งผลเสียในด้านต่างๆ ทั้งต่อตนเอง และสังคมนั้น คนส่วนใหญ่ (79%) มองว่าข้อเสียอันดับหนึ่งคือการเสียสมาธิจากการทำงาน หรือสิ่งที่ตั้งใจจะทำจริงๆ ในวันนั้น ตลอดจนการมีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ลดลง อันเป็นบ่อเกิดของปัญหาการเข้าสังคม (46%), เปรียบเทียบชีวิตของตนเองกับผู้อื่น (32%) และมีความเสี่ยงที่จะมีอาการซึมเศร้า (18%)

เมื่อถามถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดจาก Screen Time ที่มากเกินไปในแต่ละวัน พบว่าความเห็นควรลดเวลา Screen Time ลง (52%) ในขณะที่อีก 48% ให้ความสำคัญไปกับการเลือกรับชมคอนเทนต์ที่มีคุณภาพมากกว่า