“สิ้นสุด หรือเริ่มต้นใหม่?” ถอดบทเรียนการปรับตัวของสื่อไทย ในวันที่ Digital Disruption มาเยือน

จำได้ไหม…คุณดูโทรทัศน์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
เลิกหมุนหาคลื่นวิทยุฟังตั้งแต่ตอนไหน
เดี๋ยวนี้ยังซื้อหนังสือพิมพ์ตามแผงหนังสืออยู่หรือไม่?

พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคุณ คือผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่มาเขย่าวงการสื่อทั่วโลกให้สั่นสะเทือน หรือที่เพื่อนสื่อมวลชนทั้งวงการนิยมเรียกกันว่า Digital Disruptionมาทำความรู้จักกับปรากฏการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน

Cr. Disruptionhub

Digital Disruption คืออะไร
Oxford College of Marketing ได้นิยาม Digital Disruption เอาไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งส่งผลกระทบต่อมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการเดิมที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม อาทิ การที่กล้องฟิล์มถูก disrupt ด้วยกล้องดิจิทัล จน Kodak แบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดกล้องมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ต้องปรับตัวต้อนรับการมาของ Sony และ Canon หรือค่ายเพลงที่ออกอัลบั้มใหม่ในรูปแบบ DVD มากว่าทศวรรษ ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้ทันกับบริการสตรีมมิ่งที่เข้ามาเช่นกัน

Digital Disruption ในอุตสาหกรรมบันเทิงและสื่อมวลชน
แน่นอนว่าการมาเยือนของ Digital Disruption ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะอุตสาหกรรมสินค้าไอทีเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนหลายล้านริกเตอร์มาถึงอุตสาหกรรมบันเทิงด้วย 

ปี 2013 BBC รายงานข่าวเรื่อง Digital Disruption กับวงการเพลง พร้อมกางสถิติของค่ายเพลงในสหราชอาณาจักร ที่มาจากบริการสตรีมมิ่งมากถึง 51% ท่ามกลางความนิยมดาวน์โหลดเพลงฟรีผิดกฏหมาย และ CD, DVD ที่กำลังค่อย ๆ หายไป ไม่เพียงเท่านั้น! วงการภาพยนตร์เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะบริการสตรีมมิ่งชื่อดังอย่าง Netflix ที่เพิ่งเปิดตัวในอังกฤษได้เพียง 1 ปี เริ่มช่วงชิงฐานผู้ชมไป (BBC, 2012)

Cr. The New York Times

และแล้วพายุลูกใหญ่ก็พักมาถึงวงการสื่อมวลชนจนได้ เพราะเมื่อทุกคนมี ‘อินเทอร์เน็ต’ อยู่ในมือ อำนาจการควบคุมสารที่เคยอยู่ในมือของสื่อก็หลุดลอยไป เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่ในอดีตอาจเป็นไปไม่ได้ เช่น การลดจำนวนพนักงานของรายการ Vice News Tonight ในอเมริกา การปิดตัวลงอย่างถาวรของ BuzzFeed News และการที่สื่อยอมทำข้อตกลงเชิงพาณิชย์ ดังกรณีของ Financial Time หนังสือพิมพ์รายใหญ่ของอังกฤษ ทำข้อตกลงอนุญาตสิทธิ์ให้ OpenAI นำข้อมูลและเนื้อหาข่าวไปใช้พัฒนา ChatGPT (Financial Time, 2024)

สัญญาณ Digital Disruption ในวงการสื่อมวลชนไทย
พายุลูกใหญ่ไม่ได้พัดเข้าที่ชายฝั่งตะวันตกฟากเดียวเท่านั้น แต่วงการสื่อมวลชนไทยก็มีอันต้องอพยพโยกย้ายเช่นเดียวกัน โดยสัญญาณเตือนแรก ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ราว ๆ ปี 2008 ที่จำนวนผู้รับฟังวิทยุลดฮวบลงจนน่าใจหาย เหลือเพียงร้อยละ 3.1 ทั้ง ๆ ที่ในปี 2003 ยังมีมากเกินร้อยละ 40 

Cr. THAI PUBLICA

ฟากที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงหนัก ๆ ก่อนใคร เห็นจะเป็น ‘วงการนิตยสารไทย’ ที่ในปี 2010 โลดแล่นในตลาดอยู่เกิน 232 หัว แต่ร้อยละ 29 ในจำนวนนี้กลับปิดตัวลงภายใน 5 ปี เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ ที่เคยรุ่งเรืองเป็นอันดับ 2 รองจากสื่อโทรทัศน์ แต่เม็ดเงินโฆษณากลับไหลลงเรื่อย ๆ โดยในปี 2008 เม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่ 12,841 ล้านบาท และลดลงจนเหลือแค่ราว ๆ 6,000 ล้านบาทในอีก 10 ปีต่อมา (สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 2019)

อย่างไรก็ดี แม้ฟากหนังสือพิมพ์ – นิตยสาร จะเผชิญกับความยากลำบากมากมาย แต่ในเวลานั้นฟากทีวียังถือว่าทรงตัว เกือบทุกครัวเรือนยังคงมีทีวีสีกันอยู่ ละครยอดฮิตอย่างสวรรค์เบี่ยงและนางทาสก็ยังเรตติ้งดี ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2012 กสทช. ได้ประกาศเปิดศักราชของดิจิทัลทีวี เปลี่ยนจากการใช้ระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์จากภาคพื้นดิน (ส่งความถี่ผ่านเสาหนวดกุ้ง ก้างปลา) มาเป็นระบบดิจิทัลที่คมชัดกว่าเดิม แต่วงการทีวีก็ฝากความหวังกับสิ่งนี้ไว้ได้ไม่นาน ก็ถูกบริการสตรีมมิ่งที่มาพร้อมสัญญาณอินเทอร์เน็ต 5G พรากความหวังไป

การปรับตัวของสื่อไทย ในยุคที่ ‘ออนไลน์’ ครองเมือง
หากลองย้อนดูกันจริง ๆ สื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์บางเจ้าเริ่มปรับตัวให้เข้ากับโลกออนไลน์มาหลายปีแล้ว แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่าภายหลังจะกลายมาเป็นช่องทางหลัก และทั้งหมดนี้คือตัวอย่างการปรับตัวอันน่าทึ่งของสื่อไทย

การเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจสื่อสู่ Content Provider ของ Nation Group
ปลายปี 2019 เครือเนชั่น ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ คมชัดลึก และเดอะ เนชั่น ประกาศแนวทางรับมือกับสถานการณ์ Digital Disruption ครั้งใหญ่ ยอมรับว่าวงการสื่อคงไม่สามารถพึ่งพาเงินค่าโฆษณาแบบเดิม ๆ ได้อีกต่อไป จึงหันมานำเสนอคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย พร้อมหารายได้จากช่องทางอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การจัดอีเวนต์ โปรแกรมฝึกอบรมนอกสถานที่ หรือ Tour&Experience 

Cr. THE STANDARD

การเปิดตัวของ THE STANDARD

กลางปี 2017 วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ พร้อมด้วยขุนพลแห่งวงการ Online Publisher เมืองไทย เปิดตัว THE STANDARD ในฐานะ ‘สำนักข่าวใหม่’ ที่จะผลิตทั้งสื่อออนไลน์ ดิจิทัล คอนเทนต์ วิดีโอ ให้ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งการบุกตลาดของ THE STANDARD นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวของวงการสื่อประเทศไทย เพราะนอกจากจะมาเปิดประตูบานใหม่ที่ชื่อว่า Online Publisher ให้กว้างขึ้นแล้ว ยังพลิกความเชื่อว่า “สื่อไม่ควรหารายได้” อีกด้วย อ้างอิงจากความเห็นของคุณธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวไทยคนปัจจุบัน ในงานเสวนา กิจกรรม “ราชดำเนินสนทนา” หัวข้อ “เสียงภาคสนาม คือเสรีภาพสื่อมวลชน” โดยคุณธนกรยืนยันว่า THE STANDARD ทำงานทั้งในนามสื่อและองค์กรธุรกิจ เนื่องจากงานสื่อเองก็ต้องการเงินลงทุน  แต่เพื่อไม่ให้อุดมการณ์ของการนำเสนอข่าวเสื่อมถอยไป จึงแยกทีมเขียนข่าวกับเขียน Advertorial ออกจากกันอย่างชัดเจน 

ชีวิตประจำวันของทั้งคนเสพข่าว และคนรายงานข่าว เริ่มเปลี่ยนไป
ไม่ใช่แค่วงการเท่านั้นหรือเปลี่ยนแปลง แต่พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของคนเองก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยเปิดทีวีดูข่าว หรือแวะซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่านทุกเช้า ก็เริ่มหันมาไถฟีดข่าวบน TikTok แทน จนรายการข่าวบางรายการต้องตัดสินใจ Live ผ่าน TikTok หรือ Facebook เพื่อหวังโกยยอด View และ Engagement แทนเรตติ้งทางทีวี

คนไม่เปิดทีวีไม่เป็นไร รับชมผ่านไลฟ์ก็ได้
รายการข่าวชื่อดังที่เคยครองเรตติ้งบนทีวีไทยมาอย่างยาวนาน หรือแม้แต่ละครโทรทัศน์ในสังกัดทีวีช่องหลักต่าง ๆ ยอมถอยมาเผยแพร่รายการผ่าน Facebook Live และ YouTube Live เพื่อหวังโกยยอดผู้ชมจากไลฟ์ แทนตัวเลขจากเครื่องวัดเรตติ้ง บางช่องถึงยังผันตัวไปเป็น ‘เครื่องผลิตมีม’ ตัดคลิปสั้นจากละครมาใส่ประโยคปัง ๆ ให้คนทั้งโซเชียลช่วยกันแชร์

นิตยสารออนไลน์ที่เคยหายไป กลับมาใหม่บน Facebook
นิตยสารเพลงหรือบันเทิงหลาย ๆ เล่ม อาทิ ทีวีพูล สุดสัปดาห์ Vouge หรือแม้แต่ L’officiel ที่คนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าตอนนี้มีขายบนแฟงหนังสือหรือไม่ กลับมาเฉิดฉายอีกครั้งในรูปแบบคอนเทนต์ ออนไลน์ นำเสนอวิดีโอสัมภาษณ์ หรือโพสต์ข่าวประกอบภาพสั้น ๆ ให้คนแชร์ จนกวาดเอ็นเกจเมนต์ไปได้มากมาย

หรือนี่จะเป็นหนทางใหม่?! เมื่อนักข่าวไทย กลายร่างเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์
แม้จะยอมย้ายแพลตฟอร์มใหม่ มา go on ต่อบนโลกออนไลน์ แต่ทั้งรายการข่าว รายการวาไรตี้บันเทิง และละครก็ยังต้องเผชิญกับวิกฤตจำนวนคนดูที่ลดลงเรื่อย ๆ  ในระยะหลัง ๆ นี้ เราจึงพบการดำเนินรายการรูปแบบใหม่ ที่ก่อนหน้านี้เราอาจมองว่า ‘ไม่เป็นทางการ’ 

Cr. สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ‘รายการเรื่องเล่าเช้านี้’ ของสรยุทธ สุทัศนจินดา ซึ่งออกอากาศมาตั้งแต่ปี 2003 และเปลี่ยนรูปแบบรายการหลายครั้งเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ชม จนในที่สุดก็แตกไลน์ออกมาเป็น ‘รายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอ’ ออกอากาศผ่าน Facebook Live และ YouTube Live เน้นการแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมา และแสดงทรรศนะส่วนตัวภายใต้บรรยากาศสนุกสนาน เช่นเดียวกับรายการ ‘เรื่องเด่นเย็นนี้’ โดย ไก่ – ภาษิต อภิญญาวาท ที่แตกไลน์มาเป็น ‘เรื่องเด่นเย็นนี้หลังไมค์’ จนกลายเป็นไวรัลใน TikTok เพราะลีลาการอ่านข่าวที่เป็นตัวเองมากขึ้น เหมือนเหตุการณ์กำลังเกิดขึ้นหลังไมค์จริง ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น นักข่าวหลายท่านก็ผันตัวเองไปเป็นครีเอเตอร์กันอย่างตรงไปตรงมา อาทิ นัทตี้ ผู้สื่อข่าวคนดังจากข่าวสด คุณหนุ่ม อนุวัต จากรายการอนุวัต จัดให้ หรือคุณไอซ์ สารวัตร จากรายการลุยชนข่าว ช่อง 8 จนบางครั้งการพูดถึงประเด็นข่าวผ่าน TikTok ส่วนตัวของแต่ละคน ก็มียอดวิวและคอมเมนต์เกินกว่าชาแนลของช่องข่าวเสียอีก

การปรับตัวเหล่านี้ กำลังบอกอะไรเรา?

สำหรับเรา การเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามที่นำเราก้าวออกจากจุดเดิม ไม่ใช่ ‘จุดสิ้นสุด’ แต่เป็น ‘จุดเริ่มต้น’ 

เช่นเดียวกับพลวัตในวงการสื่อไทย ซึ่งกำลังส่งสัญญาณที่ดี ว่าสื่อมวลชนที่ในอดีตถูกขนานนามว่า ‘ฐานันดรที่ 4’ พร้อมสำหรับการปรับตัวและทำความรู้จักกับสาธารณชนในมาดใหม่

แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือการที่เราได้ค้นพบหนทางการเอาตัวรอดในยุค Digital Disruption ก็คือการทำงานเชิงสร้างสรรค์ หรือการงัดสกิลคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ มาปรับใช้นั่นเอง


References:

คนสื่อสะท้อนปัญหา ภาวะ New Media Disruption

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย: https://tja.or.th/view/activities/ratchadamnoen-talk/1450990 

Disruption and the digital age: key business and legal challenges impacting the entertainment and media industry

THE GLOBAL LEGAL POST: https://www.globallegalpost.com/news/disruption-and-the-digital-age-key-business-and-legal-challenges-impacting-the-entertainment-and-media-industry-1228981176 

Digital Disruption: What Is It and How Does It Impact Businesses? 

OXFORD COLLEGE OF MARKETING: https://blog.oxfordcollegeofmarketing.com/2016/02/22/what-is-digital-disruption/ 

Hard times are here for news sites and social media. Is this the end of Web 2.0?

npr: https://www.npr.org/2023/04/28/1172599212/web-buzzfeed-vice-gawker-facebook-twitter-media-news 

การเปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอล

ททบ 5: https://www.tv5.co.th/technics/tv_digital_in_the_future.html