อินฟลูเอนเซอร์ที่พร้อมเสิร์ฟรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของครอบครัว
โบว์ กัญญารัตน์ อินฟลูเอนเซอร์ที่พร้อมเสิร์ฟรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของครอบครัว
Introduction
- ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากตัดสินใจหันมาทำช่องเป็นของตัวเอง
- จากน้องเล็กของบ้านต้องมาสวมหมวกเป็น CEO ของทีม
- ความยากง่ายของการทำงานแบบครอบครับ
วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ Youtuber สายกินที่เปิดคอนเทนต์ไปเมื่อไหร่จะได้ยินเสียงที่ทำให้คุณอมยิ้มได้ตั้งแต่เริ่ม เสียงขานชื่อที่ไม่ได้มาจากเสียงคนเดียว แต่เป็นน้ำเสียงที่มากันทั้งครอบครัว ‘คุณโบว์ กัญญารัตน์ ช่อง Bow Kanyarat’ เบื้องหลังคอนเทนต์ที่แสนน่ารักและน่ากินจะเป็นอย่างไร มารู้ไปพร้อมกันกับ 9 คำถามที่ 9Conversations
คุณโบว์เริ่มเข้าวงการคอนเทนต์จากการร่วมจอยผ่านช่องของพี่สาวอย่างแจ้บิว (Bew Varaporn) ในรายการ ‘เช้านี้แม่ทำอะไร’ เป็นคอนเทนต์ที่สองศรีพี่น้องจะพาไปส่องว่าวันนี้คุณแม่ทำอะไรให้ทาน ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้คุณโบว์อยากทำช่องของเธอเอง เพราะเธอมีความชอบทำอาหารอยู่แล้ว เธอจึงอยากจะทำคอนเทนต์อาหารที่ตัวเองชอบกินดูบ้าง (ของแซ่บๆ อย่างยำ!) และในช่วงนั้นแจ้บิวจะไปเรียนต่อที่อังกฤษพอดี เมื่อพี่สาวไม่อยู่ น้องสาวเองไม่มีอะไรให้ทำ จึงตัดสินใจเปิดช่องตัวเอง จากวันนั้นจนถึงทุกวันนี้ประมาณ 4-5 ปีได้แล้ว
และถึงแม้จะผ่านมานานแต่คอนเทนต์ยังคงความเป็นคาแรกเตอร์และความชอบในการทำอาหารของคุณโบว์ไว้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ สมาชิกที่ถูกเพิ่มเข้ามาในคอนเทนต์อย่างคุณแม่ ลุงน้อย คุณสุธี และน้องๆ ทีมงานที่มาจอยด้วย เสริมบรรยากาศให้ดูคึกครื้น และเป็นครอบครัวมากขึ้น (และดูอบอุ่นมากด้วย)
ขีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากตัดสินใจเปิดช่องของตัวเอง?
“เปลี่ยนไปเยอะมาก จากตอนแรกบอกตรงๆ เลยว่าโบว์แค่อยากมีรายได้อีกทาง เพราะตอนนั้นที่เริ่ม เรายังเรียนอยู่ และไม่ได้คิดเลยว่าผลตอบรับจะดีขนาดนี้ จากตอนแรกทำด้วยความชอบ แต่ตอนนี้มันกลายเป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ เพราะไม่ได้มีแค่ตัวเรา มีอีกหลายๆ ชีวิตที่มาอยู่กับตัวเรา มันเลยกลายเป็นงานที่เราต้องจริงจังมากขึ้น”
จากน้องเล็กในบ้าน ต้องมาสวมหมวกเป็น CEO ของทีม?
ในพาร์ทที่เธอเป็นน้องเล็กในบ้าน บทบาทจะคนละเรื่องกับตอนทำงาน ทำให้เธอลืมบทบาทการเป็นน้องเล็กไปเลย และเป็นเรื่องที่หนักมากสำหรับเธอ ซึ่งตอนนี้ที่ต้องรับบทเป็นหัวหน้าทีม คุณโบว์นั้น ‘ไม่ดุน้องในทีมเลย’ เธอบอกว่า
“โบว์จะทำในสิ่งที่ชอบ และสิ่งที่ไม่ชอบ โบว์จะไม่ทำ”
ในตอนเด็กถ้าเราทำอะไรไม่ดี เราจะโดนตำหนิ โดยที่เราไม่รู้ว่าเราผิดอะไร จึงไม่รู้ว่าต้องปรับอะไร เธอคิดเสมอว่า “ทุกคนจะมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง” ดังนั้น เวลาใครทำผิด เราแค่ชี้นำว่าสิ่งที่ไหนควรทำ หรือเราก็แค่ปรับจูนความคิดให้เข้ากัน เพื่อให้สิ่งนั้นๆ มันดียิ่งขึ้นไปอีก ไม่ปิดกั้นความคิดเห็นของคนอื่น
“เพราะความคิดเราคนเดียวมันอาจจะไม่ได้ถูกเสมอไป”
ความยากของการทำงานแบบครอบครัว ?
สำหรับครอบครัวคุณโบว์เอง ถือเป็นความโชคดีเพราะเป็นครอบครัวที่ค่อนข้างเกรงใจกัน ทุกคนจะเคารพในการตัดสินใจของโบว์ เป็นแรงซัปพอร์ตที่ดี เคารพซึ่งกันและกัน และทุกคนสามารถออกความคิดเห็นได้เสมอ สุดท้ายเราจะหาทางมาเจอกันตรงกลาง เป็นการลดอีโก้ลงในการทำงานร่วมกัน จึงเกิดปัญหาค่อนข้างน้อย และเพราะได้ใช้เวลาร่วมกันบ่อยๆ จึงมีเวลาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเสมอ แต่คุณโบว์บอกว่า ‘ถ้าถึงเวลาพัก เราจะไม่พูดเรื่องงานกันในครอบครัว จึงเซตเวลาเอาไว้เลยว่า เสาร์ อาทิตย์ ห้ามทำงาน เพราะไม่งั้นเราจะเหนื่อยเกินไป’
รับมือกับคอมเมนต์ไม่ดีอย่างไร ?
“ในช่วงแรก รับมือไม่ได้เลย เป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับโบว์ จำได้เลยว่าคอมเมนต์แรกที่ว่าโบว์คือ เสียงดัง อ้วน”
ตอนนั้นเธอยอมรับว่าโกรธ และร้องไห้ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป ก็เข้าใจได้ว่า ณ ตอนนั้นเธอยังเด็ก และไม่เคยโดนคอมเมนต์ไม่ดีมาก่อน แต่พอโตขึ้น จึงเข้าใจว่าในโลกโซเชียลมันมีคนหลากหลายแบบ บางคนอาจจะเป็นเด็กอายุแค่ 12-13 ขวบ ที่อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าสิ่งที่เขาพิมพ์มันคืออะไร เธอจึงคิดว่าควรปล่อยวาง คำพูดที่ไม่ดี ด่าแล้วไม่เกิดผล ให้ปล่อยผ่าน ไม่ต้องตอบโต้อะไร แต่ถ้าเป็นคอมเมนต์ที่ติเพื่อก่อ สิ่งใดที่เราต้องปรับแก้ เธอจะนำมาปรับต่อ ซึ่งเธอเองอยากขอบคุณคอมเมนต์เหล่านั้นด้วยซ้ำ ที่ช่วยทำให้ช่องของเธอรู้ว่าต้องปรับอะไร
ส่วนในฝั่งของหม่าม้าหรือลุงน้อยเอง คุณโบว์บอกว่าพวกท่านอาจจะไม่ได้เห็นคอมเมนต์ที่ไม่ดี แต่ถ้าพวกท่านเจอ คุณโบว์คิดว่าพวกท่านน่าจะรับมือได้ เพราะพวกท่านเองเข้าใจว่าคนเรามีหลายประเภท หรืออย่างมากพวกท่านจะแค่บ่นกับคนในครอบครัวตามประสา แต่คงไม่ได้เก็บเอามาคิดอะไรมาก ซึ่งส่วนนี้เป็นหนึ่งในข้อดีของการทำงานแบบครอบครัว คือ ‘ทุกคนสามารถแชร์เรื่องราวที่เจอผ่านการทำงานได้อย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน จึงทำให้การทำงานนั้นไม่เครียดจนเกินไปด้วย’
ฝีมือการรังสรรค์เมนูอาหารที่หลากหลาย
ถ้าถามถึงเมนูไหนที่จำไม่เคยลืม คือ ‘ยำมะนาวกุ้งสด’ เป็นเมนูที่เรียกได้ว่าโปรดปรานแบบหาที่สุดไม่ได้ ทำบ่อยที่สุด เพราะติดตราตรึงใจมาก คุณโบว์บอกว่าครั้งแรกที่ทำตกใจมากว่า ทำไมเราทำได้อร่อยขนาดนี้ จากวันนั้นจนวันนี้ทำคอนเทนต์ยำมะนาวกุ้งสดมาแล้วเกือบสิบคลิป (สงสัยจะชอบจริงๆ)
“เมนูที่ทำแล้วไม่อร่อยก็มีนะคะ อย่างเมนูดองค่ะ”
การทำเมนูดองนั้น ขั้นตอนการทำเหมือนจะง่าย แต่สิ่งที่ยากคือ ความสะอาดของบรรจุภัณฑ์ที่เราจะใช้ดอง คุณโบว์บอกว่า ครั้งแรกที่ทำอาหารดอง อาจจะล้างอุปกรณ์สำหรับการดองไม่สะอาดเท่าที่ควร บวกกับยังไม่ได้ชำนาญในการเลือกวัตถุดิบและวิธีการทำ รสชาติที่ออกบางครั้งถึงกับกินไม่ได้ เพราะมันมีรสคาวของวัตถุดิบ ต้องจำใจกิน เพราะเสียเงินไปแล้ว ซึ่งเธอก็ทำคอนเทนต์บอกตรงๆ กับผู้ชมว่า ถ้าทำเมนูดอง ทำแบบเธออาจจะไม่เวิร์ก (แสดงถึงความจริงใจ)
หลายๆ ครั้งมักมีผู้ชมหลายคนเอาเมนูไปทำตามคุณโบว์ บ้างก็ออกไปซื้อเมนูเดียวกันกับเธอ เพื่อกินไปพร้อมกับการดูคอนเทนต์ ซึ่งคอมเมนต์เหล่านี้และยอดวิว เป็นส่วนที่ทำให้เธออยากทำคอนเทนต์ต่อไปมาก
“เพราะสิ่งที่เราทำออกไป มันมีคนที่สนใจให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราทำ เห็นว่าช่องเราพัฒนา เห็นความตั้งใจของเรา จึงทำให้เราอยากจะคอนเทนต์ให้สุดมากกว่านี้”
‘เมนูหนึ่งบาท’ คอนเทนต์สนอง Need
คอนเทนต์นี้เกิดจากการที่ว่าหม่าม้าและคุณโบว์นั้นชอบทำอาหาร และอยากเปิดร้านอาหารมาก แต่การจะเปิดร้านอาหารนั้น มันมีอะไรที่มากกว่าแค่ความชอบ ต้องคำนึงถึงเรื่องกำไร ต้นทุนต่างๆ เข้ามาผสม ต้องรับผิดชอบในหลายอย่าง คิดๆ ดูแล้วน่าจะเครียดมากกว่าสนุกไปกับมัน คุณโบว์และหม่าม้าจึงตัดสินใจ ปรับมาทำคอนเทนต์แทน ครั้นจะทำอาหารแจกฟรี บางคนอาจจะเกรงใจไม่กล้าหยิบ งั้นทำเมนู ‘ขายหนึ่งบาท’ ก็แล้วกัน
“หม่าม้าจะมีสมาคมของเขาในหมู่บ้าน เวลาจะทำคอนเทนต์หม่าม้าก็จะประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนๆ ผ่านกรุ๊ปไลน์ ว่าบ้านเรามีเมนูนี้ ใครสนใจเดินมาได้เลย” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการประชาสัมพันธ์ที่แสนน่ารักของช่องคุณโบว์
ปัจจุบันเกิด Youtuber ขึ้นหลายช่องมาก การหมั่นทำคอนเทนต์ที่สดใหม่อยู่เสมอเป็นเรื่องที่ต้องทำ ในหลายครั้งที่ยอดวิวอาจไม่ดีเท่าเดิม แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเราต้องยอมจำนน คุณโบว์เอง เธอมีความคิดที่ว่า “สุดท้ายถ้าคอนเทนต์เราดี คนดูก็น่าจะอยากดูคลิปเรา ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำการบ้านมากขึ้น คิดหนักขึ้น ว่าคนดูอยากได้อะไร คนดูอยากจะดูอะไรในช่องเรา ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่โทษ Youtube ที่ยอดวิวจะน้อยลง แต่เป็นเราที่ต้องพยายามมากขึ้น”
ซึ่งนอกจากคอนเทนต์การกิน คุณโบว์เองเธออยากทำคอนเทนต์ที่มีไลฟ์สไตล์มากขึ้น เป็นคลิปวิดีโออื่นๆ บ้าง แต่ยังคงมีเรื่องการกินอยู่ด้วย มีลูกเล่นอื่นๆ เพิ่มขึ้น ให้ผู้ชมได้เห็นอะไรที่มากกว่าการกิน
สุขภาพกับอินฟลูเอนเซอร์สายกิน
ในช่วงแรกที่เริ่มทำคอนเทนต์กิน เธอเองไม่ได้โฟกัสที่การออกกำลังกาย เน้นทำคอนเทนต์กินเป็นหลัก แต่พอระยะเวลาผ่านไปสักพัก ร่างกายมันฟ้องว่าไม่ไหว ด้วยอาการท้องอืด คล้ายจะอาเจียน เธอจึงรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องเริ่มดูแลตัวเอง ปรับวินัยการกินของตัวเองมากขึ้น แบ่งเวลามาออกกำลังกายทุกๆ หกโมงเช้า ถึงช่วงแรกจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ค่อยๆ ปรับจนทำได้ และในวันที่ไม่ได้อัดคลิปจะเลือกกินมากขึ้น มื้อไหนที่อัดคลิป จะยกในมื้อนั้นเป็น Cheat day ทำให้ทุกอย่างมันบาลานซ์มากขึ้น
ธุรกิจ ‘น้ำปลาร้า’ และ ‘แบรนด์เสื้อผ้า’
‘แบรนด์น้ำปลาร้า’ เริ่มจากความอยากมีใบหน้าตัวเองอยู่บนฉลากสินค้า แต่ผลตอบรับนั้นเกินคาด ซึ่งการจะขายน้ำปลาร้าให้ได้กำไรนั้น ต้องขายจำนวนมาก หากขายปลีกจะไม่คุ้ม เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ ในตอนแรกเกือบจะล้มเลิก แต่กระแสตอบรับมันยังดีอยู่เรื่อยๆ คนทวงว่าเมื่อไหร่น้ำปลาร้าจะขายอีก บวกกับคุณโบว์เอง ถูกใจในน้ำปลาร้าของตัวเองมาก ไม่ว่าจะกินปลาร้าที่ไหนก็ไม่ม่วนเท่าน้ำปลาร้าของเธอเอง จึงตัดสินใจเอากลับมาขายอีกรอบ ลอตแรกที่สั่งมา 6 พันขวด ผลปรากฎว่า หมด! ทำให้เธอหันมาจริงจังกับมันมากขึ้น
‘แบรนด์เสื้อผ้า’ เริ่มทำแบรนด์เพราะอยากมีรายได้เสริมในสมัยเรียน แต่เปิดแบรนด์โดยที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำแบรนด์เสื้อผ้าเลย คิดแค่ว่ารับมา ขายไป แต่พอทำไปเรื่อยๆ คุณโบว์เริ่มรู้สึกรักในการทำแบรนด์เสื้อผ้า ทำให้ต้องกลับมาคิดไตร่ตรอง เริ่มต่อจิ๊กซอว์กับมันใหม่ จากตอนแรกที่เป็นแบรนด์เสื้อผ้าทั่วไปไม่ได้มีความโดดเด่น ตอนนี้จึงปรับให้ชัดเจนและดียิ่งขึ้น
เสน่ห์ของเพื่อนซี้ต่างวัย
จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับเพื่อนซี้ต่างวัยของคุณโบว์นั้น เธอบอกกับเราว่า ปกติถ้าทำงานร่วมกับคนในช่วง Gen เดียวกัน มันมีจะมีความใจร้อน ทุกอย่างรวดเร็วไปหมด แต่เมื่อทำงานร่วมกับคนต่าง Gen ทำให้เราต้องใจเย็นมากขึ้น คิดคำนึงถึงรายละเอียดการทำงานมากขึ้น จะปรับการทำงานอย่างไรได้บ้าง ซึ่งพอเป็นแบบนี้มันจะมีความสนุกอีกแบบ เพราะอย่างหม่าม้าหรือลุงน้อยเองนั้น จะมีประสบการณ์ที่แตกต่างไป ที่นำมาแลกเปลี่ยนกันระหว่างการทำงานได้ ครอบครัวของคุณโบว์นั้นเริ่มมาสนิทกันมากขึ้นช่วงที่ทำคอนเทนต์ และซื้อบ้านในหมู่บ้านเดียวกัน ทำให้ได้เจอกัน และพูดคุยแลกเปลี่ยนกันทุกวัน ทำให้เรียนรู้หลายๆ อย่างจากประสบการณ์ที่หลากหลายของคนในครอบครัว
และเธอเชื่อว่า อีกหลายครอบครัวน่าจะมีมุมน่ารักๆ เช่นเดียวกับบ้านคุณโบว์ เพียงแค่ไม่ได้ถ่ายลงโซเชียลเท่านั้นเอง คุณโบว์อยากชวนให้ครอบครัวอื่นหันมาทำคอนเทนต์กันเยอะๆ ถึงแม้ท้ายที่สุดมันอาจจะไม่ใช่อาชีพที่สร้างรายได้ แต่ถ้าเรามีความชอบ อยากจะทำให้ ให้ลงมือทำเลย เพราะอย่างน้อยคอนเทนต์นั้นๆ มันจะกลายเป็นความทรงจำที่ดีให้ครอบครัวของเราเอง
และทั้งหมดนี้คือความน่ารักที่สะท้อนผ่านความคิดของตัวคุณโบว์ น้องเล็กของบ้าน ที่วันนี้เธอเติบโตมากขึ้น พร้อมๆ กับช่องของเธอ สำหรับใครที่อยากติดตามคุณโบว์สามารถติดตามได้ที่ YT : Bow Kanyarat