AI ในวงการสื่อ – เมื่อโฉมหน้าผู้ประกาศไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คนเสพข่าวจะทำอย่างไร

เคยไหม? ไถฟีดอ่านข่าวอยู่ดี ๆ ก็เจอคลิปข่าวที่มีเสียงผู้ประกาศฟังดูแปลกหู หรือเจอผู้ประกาศหน้าตาสวย – หล่อ แต่แววตาดูนิ่ง (เกินจริง) บนจอทีวี แม้นั่นอาจทำให้คุณรู้สึกประหลาดใจอยู่บ้าง แต่เราทุกคนต่างก็ต้องพยายามปรับตัวให้ชิน เพราะ ‘AI ในวงการข่าว’ คือสัญลักษณ์ของยุคใหม่ที่กำลังมาเยือน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถือกำเนิดของ ‘ผู้ประกาศข่าว AI’ ที่ทำให้วิชาชีพสื่อมวลชนเกือบทุกแขนงต้องสั่นสะเทือน

คุณอาจรู้สึกว่า AI เพิ่งจะเข้ามามีบทบาทในชีวิต หลังการก่อตั้งของ ChatGPT เมื่อปี 2022 แต่อันที่จริง AI ได้รุกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว และผู้ประกาศข่าว AI คนแรกก็มีมาตั้งแต่ปี 2018 ภายใต้ชื่อว่า ชิว ห่าว (Qiu Hao) สังกัดสำนักข่าวชินหัว ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน

Cr. cnbc


เนื่องจากเป็นผู้ประกาศข่าว AI ชิว ห่าว จึงสามารถทำงานข้ามวันข้ามคืนได้โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่จำเป็นต้องมีวันลาพัก และไม่ต้องเผื่อเวลาเดินทาง ดังประโยคแนะนำตัวในนาทีแรกที่เขาทักทายผู้ชมทางจอโทรทัศน์ว่า “ผมไม่เพียงแต่สามารถอยู่เคียงข้างคุณได้ตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันต่อปีเท่านั้น ผมยังปรากฏตัวในสถานที่ต่างๆ เพื่อนำเสนอข่าวสารให้กับคุณได้ไม่รู้จบ” (The Guardian, 2018)

แม้จะมีวิถีการทำงานเยี่ยงเครื่องจักรกล แต่ชิว ห่าว กลับแสดงท่าทางได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะมีต้นแบบเสียงและบุคลิกจากผู้สื่อข่าวตัวจริงของสำนักข่าวชินหัว นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ประกาศข่าวที่ไม่มีปัญหาเรื่องกำแพงภาษา เพราะเขาพัฒนามาจากระบบ Search Engine ชื่อดังของจีนอย่างโซวโก่ว (Sogou)

การเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของนายชิว ห่าว เขย่าวงการสื่อให้สั่นสะเทือนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคนทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชน ที่ต่างก็หวั่นเกรงในอนาคตของตัวเอง แต่เทรนด์ AI ที่มาแรงเกินต้าน กลับดึงดูดให้สำนักข่าวทั่วโลกแข่งกันพัฒนาผู้ประกาศข่าว AI มากขึ้น

Cr. MGR


1 ปี หลังเปิดตัวชิว ห่าว สำนักข่าวชินหัวร่วมกับเพื่อนเก่าอย่างโซวโก่ว ก็เปิดตัวผู้ประกาศข่าวหญิง AI คนแรกของโลก เธอคนนี้มีชื่อว่า ซิน เสี่ยวเมิ่ง (Xin Xiaomeng) ซึ่งมีพัฒนาการล้ำกว่านายชิว ห่าวเล็กน้อย เพราะสามารถยืน โบกมือ และมีรูปปากขณะพูดที่เป็นธรรมชาติมากกว่าเดิม

Cr. veecotech


ด้านช่อง KBN ของเกาหลีใต้ก็ไม่น้อยหน้า เผยโฉมผู้ประกาศข่าวหญิง AI ให้โลกรู้จักเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา โดยเลียนสีหน้า ท่าทางมาจากคิมจูฮา (Kim Joo Ha) ผู้ประกาศข่าวแม่เหล็กคนหนึ่งของ KBN

3 ปีต่อมา ประเทศอินเดียก็แนะนำผู้ประกาศข่าวหญิง AI ให้ทั่วโลกได้รู้จักบ้าง เธอมีชื่อว่าเซาว์ดาร์ย่า (Soundarya) ทำหน้าที่รายข่าวให้กับสำนักข่าว Power TV ของฝั่งอินเดียตอนใต้

Cr. ERT


ฟากยุโรปก็มีเริ่มมีการทดลองใช้ผู้นำรายการ AI (ไม่เชิงผู้ประกาศข่าว) เช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือประเทศกรีซ ที่เพิ่งเปิดตัวเฮอร์มีซ (Hermis) พิธีกรรายการข่าวสั้นจากช่อง ERT ผู้มีชื่อเดียวกับเทพเจ้ากรีกโบราณ

ไม่มีใครรู้ว่าการนำ AI มาใช้ในวงการข่าวจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน แต่ภายหลังต่างประเทศเปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI อย่างต่อเนื่อง สำนักข่าวในไทยเองก็เดินหน้าเกาะกระแสนี้แล้วเช่นกัน

Cr. Nation TV


สื่อเจ้าแรกที่ประเดิมเทคโนโลยีนี้คือ Nation TV เริ่มจากผู้ประกาศข่าว AI เพศหญิง นามว่าณัชชา ซึ่งจะรับหน้าที่รายงานข่าวสั้นประจำวัน ตามมาด้วยเนทรานส์ ผู้ประกาศข่าว AI เพศชาย ที่มาเสริมทัพข่าวต่างประเทศในช่วงเนชั่นทันโลก ทั้งสองคนเผยโฉมให้ผู้ชมรู้จักผ่านจอโทรทัศน์ตั้งแต่กลางปี 2024 และยังคงทำหน้าที่รายงานข่าวอยู่จวบจนปัจจุบัน (Nation, 2024) 

ในช่วงเวลาเดียวกัน Mono 29 ซึ่งจ่อใช้ AI ช่วยพัฒนาธุรกิจสื่อมาตั้งแต่ต้นปี 2024 ก็เปิดตัว มาริสา ผู้ประกาศข่าว AI เพศหญิงคนแรกของสถานี เช่นเดียวกับฐานเศรษฐกิจ ที่เปิดตัว พราวเอเชีย ผู้ประกาศข่าว AI สาว ที่มาพร้อมความสามารถด้านภาษา เพื่อเปิดน่านน้ำสื่อสารกับชาวต่างชาติ และนำพาฐานเศรษฐกิจก้าวไปสู่ยุคใหม่ได้อย่างไร้ขีดจำกัด (Posttoday, 2024)

เทคโนโลยี AI เปรียบเหมือนต้นไม้ที่งอกงามอยู่ท่ามกลางทะเลทราย เพราะดูเหมือนว่า AI ที่พัฒนาจนล้ำหน้ากำลังสวนทางกับความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจ แน่นอนว่าหากเรามองสำนักข่าวเป็นหนึ่งหน่วยธุรกิจ “การทุ่มทุนกับ AI อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ดีกว่า”

เมื่อย้อนกลับมาศึกษาวิธีการสร้างผู้ประกาศข่าว AI จะเห็นว่าส่วนมากใช้วิธีบันทึกเสียง หน้าตา และลักษณะท่าทางของผู้ประกาศข่าวที่มีตัวตนจริง ๆ แล้วนำไปให้ Machine Learning เรียนรู้ ก่อนทุ่มทุนสร้างโมเดล 3 มิติขึ้นมา เพื่อรังสรรค์ผู้ประกาศให้สมบูรณ์แบบดังใจ

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ผู้ประกาศข่าว AI เหล่านี้จะมีบทบาทแค่เฉพาะการรายงานข่าวสั้น ข่าวด่วนประจำวัน หรือสกู๊ปภาษาต่างประเทศบางช่วงของรายการ แต่ก็ช่วยลดภาระของผู้ประกาศข่าวตัวจริงลงไปได้ และช่วยให้ทั้งกองบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวมีเวลาสรุปข่าวในเชิงลึกได้มากขึ้นอีกด้วย

ทันทีที่จีนเปิดตัวชิน ห่าว ผู้ประกาศข่าว AI คนแรกของโลก และวิดีโอของเขาเผยแพร่ลงบนโซเชียลมีเดีย ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้ชมอย่างรวดเร็ว บ้างรู้สึกประทับใจ บ้างรู้สึกกังวลใจ แต่ไม่ได้มีกระแสต่อต้าน จนจีนต้องระงับการพัฒนาผู้ประกาศข่าว AI แต่อย่างใด

ฟากประเทศไทยเองก็เช่นกัน แม้จะมีคอมเมนต์เชิงไม่เห็นด้วย และแสดงความกังวลเรื่องท่าทางที่ไม่สมจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับบอยคอต สอดคล้องกับถ้อยคำของชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในวันครบรอบ 27 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ว่า “เคยมีตัวอย่างที่มีสำนักข่าวมีการทดลองสร้างรูปประกอบโดยใช้ AI ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่ามีกฎเกณฑ์ทำอย่างไร ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจาก AI สร้างมาแบบไม่สมบูรณ์ มีจุดที่ทำให้สามารถจับผิดได้ง่าย รู้ว่าไม่ใช่ภาพจริง” (sonp, 2024)

อาจเร็วไปที่จะสรุปว่า ผู้ชมทั่วโลก หรือแม้แต่คนไทยเอง ยอมรับการมีอยู่ของผู้ประกาศข่าว AI มากน้อยแค่ไหน 

แต่เมื่อพิจารณาจากคอมเมนต์ของผู้ชม พบว่าส่วนมากจะกังวลเรื่อง ‘ความไม่สมจริง’ แสดงให้เห็นว่า “มนุษย์ยังคงอยากสื่อสารกับมนุษย์อยู่ แม้จะเป็นการสื่อสารทางเดียวอย่างการดูข่าวก็ตาม” เพราะนั่นก็เป็นหนึ่งในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์

อย่างไรก็ดี จากทิศทางการพัฒนาของสำนักข่าวทั่วโลก เห็นได้ชัดว่าผู้ประกาศข่าว AI มีแนวโน้มที่จะได้รับการพัฒนาต่อไป และผู้ชมอาจได้เห็นโฉมหน้าของ AI บนสกู๊ปข่าวบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งแรก ๆ ที่คุณจะทำได้ คือการทำความเข้าใจในเทคโนโลยี เช่น ศึกษาเรื่องเทคโนโลยี AI Deepfake (เทคนิคการสร้างสื่อสังเคราะห์ด้วยการปลอมแปลงภาพนิ่ง เสียง บุคลิกท่าทาง) และศึกษาเรื่อง Generative AI ให้มีความรู้ ความเข้าใจเบื้องต้นเอาไว้บ้าง

นอกจากนี้ ปัจจุบันเริ่มมีบัญชีข่าวปลอมและเว็บพนัน สร้าง Fake News โดยใช้เสียงบรรยาย AI แลกกับยอดคลิก ยอดไลก์ คุณจึงควรติดตามข่าวสารเฉพาะจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ อย่าหลงเชื่อผู้ประกาศข่าว AI จากแหล่งข่าวปลอมเด็ดขาด และเมื่อได้ชมคลิปข่าวใดก็ตาม อย่าลืมเปรียบเทียบข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งก่อนแชร์ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

เพราะแม้เทคโนโลยีจะรุดหน้าไป จนทำให้เรามีโอกาสได้สัมผัสกับวิถีใหม่ ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือมีมิจฉาชีพซ่อนตัวอยู่ในเงามืด และพร้อมจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้เช่นกัน

ใช่! อย่างที่คุณรู้ดี ว่าการพัฒนาทั้งหมดนี้คือ ‘ดาบสองคม’

——–

References:

More countries across Asia are introducing AI news anchors. Here’s a list

techwireasia: https://techwireasia.com/2023/07/ai-news-anchors-and-which-countries-has-them/ 

Meet Soundarya, South India’s first AI news presenter by Power TV

INDIAai: https://indiaai.gov.in/news/meet-soundarya-south-india-s-first-ai-news-presenter-by-power-tv 

South Korea’s first AI news anchor make debut 

veecotech: https://www.veecotech.com.my/south-korea-first-ai-news-anchor/ 

‘Here is the news. You can’t stop us’: AI anchor Zae-In grants us an interview

The Guardian: https://www.theguardian.com/tv-and-radio/2023/oct/20/here-is-the-news-you-cant-stop-us-ai-anchor-zae-in-grants-us-an-interview 

Greece Introduces First AI Powered Virtual TV Presenter

ERT: 

https://greekreporter.com/2023/05/04/greece-first-ai-powered-virtual-tv-presenter/