การประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความร่วมมือเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านคอร์รัปชัน


การประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความร่วมมือเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านคอร์รัปชัน
ภายใต้โครงการสนับสนุนการทำงานสื่อสืบสวนสอบสวน

โดย
คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อ “คนไทย”
และ คุณปรางทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยอิสระด้านมาเลเซีย และนักข่าวอิสระ สมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ)



“มันใช่หน้าที่ของสื่อหรือในการตั้งประเด็นสงสัยด้านงบประมาณ?”
คำถามเชิงเหน็บแนมจากนักการเมืองสะท้อนถึงความกดดันที่สื่อมวลชนต้องเผชิญในการรายงานข่าวเชิงสืบสวนเกี่ยวกับการทุจริต แต่กลับกลายเป็นคำถามที่ปลุกให้สังคมหันกลับมาคิดว่า หากไม่ใช่หน้าที่ของสื่อในการตรวจสอบ แล้วใครล่ะที่จะเป็นผู้ตั้งคำถามเหล่านี้?

แท้จริงแล้ว คำตอบไม่ควรหยุดอยู่เพียงที่สื่อ เพราะการต่อต้านการทุจริตไม่ใช่หน้าที่ของสื่อเพียงลำพัง แต่เป็นภารกิจร่วมกันของทุกคนในสังคม เพื่อลดทอนรากลึกของปัญหาที่กัดกร่อนความไว้วางใจในระบบอย่างต่อเนื่อง

การทุจริตเป็นปัญหาเรื้อรังที่แทรกซึมในทุกมิติของสังคม ตั้งแต่เศรษฐกิจ การเมือง ไปจนถึงความเชื่อมั่นในระบบของรัฐ ผู้ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือประชาชน แต่ปัญหาไม่ได้หยุดอยู่แค่ตัวเลขที่ถูกยักยอกหรือการสูญเสียทรัพยากร มันทำให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวังต่อความยุติธรรม

ทุกวันนี้ คนที่ทำผิดไม่ได้กลัวการถูกลงโทษทางกฎหมายมากเท่ากับการสูญเสียการสนับสนุนจากประชาชน แต่ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือการรวมพลังไม่ยอมรับต่อการทุจริตยังขาดความชัดเจน หากประชาชน 60 กว่าล้านคนร่วมกันแสดงจุดยืนว่า “ไม่เอาคอร์รัปชัน” และพร้อมผลักดันความโปร่งใสอย่างจริงจัง ผลกระทบย่อมเกิดขึ้นกับผู้มีอำนาจที่กระทำผิด

สื่อมวลชนเป็นด่านหน้าที่สามารถชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลและเปิดเผยความจริง แต่ในหลายครั้ง สื่อมักทำหน้าที่เพียงรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะเป็นผู้ค้นหาและเปิดโปงปัญหาที่ซ่อนอยู่ การทำข่าวเชิงสืบสวนยังคงเป็นสิ่งที่ห่างไกลในสังคมไทย

ตัวอย่างของพลังแห่งการสืบสวนคือกรณี “แฟ้มลับปานามา” หรือ “ปานามา เปเปอร์ส” ซึ่งเปิดเผยเครือข่ายการฟอกเงินและซ่อนทรัพย์สินผ่านบริษัทนอกอาณาเขต ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยนี้ไม่ได้มาจากการทำงานของสื่อเพียงคนเดียว แต่เป็นผลของความร่วมมือระดับโลกของเครือข่ายนักข่าวสืบสวนสอบสวน (ICIJ) ที่กล้าท้าทายอำนาจของคนที่อยู่เบื้องบน

ในบางประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์และปากีสถาน ข่าวสืบสวนสอบสวนนี้นำไปสู่การลาออกของนักการเมืองระดับสูง แต่ในประเทศไทย กลับไม่ได้ส่งผลกระทบที่ชัดเจน เพราะการทุจริตกลายเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับจนกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม


การต่อต้านการทุจริตไม่ใช่เรื่องของสื่อเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยพลังจากประชาชนด้วย การรวมพลังของประชาชนที่แสดงความไม่ยอมรับต่อความไม่โปร่งใส สามารถสร้างแรงกดดันต่อผู้มีอำนาจได้อย่างมหาศาล และเมื่อสื่อมวลชนกล้าหาญที่จะสนับสนุนเสียงเหล่านี้ ความเปลี่ยนแปลงก็จะเริ่มต้นขึ้น

การแก้ปัญหาคอร์รัปชันต้องอาศัยความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง สื่อมวลชนไม่ควรหยุดเพียงแค่การรายงานข่าว แต่ต้องเป็นตัวกลางที่ช่วยให้ประชาชนเข้าใจปัญหาในเชิงลึก สร้างแรงบันดาลใจให้สังคม และนำพาให้เกิดการลงมือทำอย่างจริงจัง

แน่นอนว่าการทำข่าวสืบสวนสอบสวนประเด็นทุจริตต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากซึ่งไม่ใช่เพียงเงินทุน แต่ยังมีประเด็นด้านการคุ้มครองด้านกฎหมายและความปลอดภัย (Legal Protection) การเข้าถึงแหล่งข้อมูล (Open Data) และการได้รับการสนับสนุน (Funding & Alliance) ซึ่งอยากเชิญชวนสื่อให้หันมาให้ความสนใจกับการทำข่าวสืบสวนสอบสวน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมผนึกกำลังในการสนับสนุนให้มีพื้นที่ส่วนกลางในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนต่อไป



การต่อต้านการทุจริตอาจไม่ง่ายและต้องใช้เวลา แต่เป็นการต่อสู้ที่คุ้มค่า เพราะมันเกี่ยวข้องกับอนาคตของสังคมทั้งหมด เมื่อสื่อยังคงยืนหยัดในความซื่อตรง และประชาชนไม่ยอมแพ้ต่อความไม่ยุติธรรม โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นยังคงเป็นไปได้

“อย่าให้คอร์รัปชันเป็นวัฒนธรรม แต่จงทำให้ความโปร่งใสกลายเป็นมาตรฐานของเรา”

บทสรุปนี้ไม่ได้เป็นเพียงคำพูดที่สวยหรู แต่มันคือความหวังของอนาคตที่พวกเราทุกคนสามารถช่วยกันสร้างขึ้นมาได้


ขอขอบคุณทุกท่าน ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมและมีส่วนสำคัญในการออกแบบกระบวนการ ตลอดจนสนับสนุนข้อมูลและมุมมองอันทรงคุณค่า ขอให้กำลังใจทุกภาคส่วนและขอสนับสนุนให้เกิดเป็นแนวร่วมนักข่าวสายสืบสวนสอบสวน และเกิดพื้นที่กลางในการรวบรวมทรัพยากรและการคุ้มครองให้นักข่าวที่ทำเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านได้ตั้งใจไว้

ผู้จัดงาน: บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และตัวแทนผู้บริหารเข้าร่วมงานในครั้งนี้ คุณสุภอรรถ โบสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ
ผู้สนับสนุน: สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และตัวแทนผู้บริหารเข้าร่วมงานในครั้งนี้ คุณเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

วิทยากร:
-คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อ “คนไทย”
-คุณปรางทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยอิสระด้านมาเลเซีย และนักข่าวอิสระ สมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ)

กระบวนกร:
-รศ.รุจน์ โกมลบุตร
-รศ. ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม

ฝ่ายบริหารโครงการ
-คุณปิยาวันทน์ ประยุกต์ศิลป์ กรรมการมูลนิธิ “เพื่อคนไทย”
-คุณนันท์วดี แดงอรุณบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

Mentor:
-ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) – http://www.anticorruption.in.th
-ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC Corruption) – https://kraccorruption.com
-คุณพิพัฒน์ พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร สำนักงาน ป.ป.ช. – https://www.nacc.go.th
-คุณสุภอรรถ โบสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด – https://hand.co.th
-คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทเทลสกอร์ จำกัด – www.tellscore.com

ตัวแทนสื่อผู้เข้าร่วมมากมาย อาทิ เช่น
-ตัวแทนสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
-ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตสื่อออนไลน์
-สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ
-The Standard
-The Momentum
-ฐานเศรษฐกิจ
-Voice TV
-ช่อง 7
-นครเชียงรายนิวส์
-สงขลาโฟกัส

และอีกหลายหน่วยงาน หลายท่าน ที่ต้องขออภัยหากกล่าวถึงไม่ครบถ้วน