สื่อเปลี่ยนตัวเองเป็นครีเอเตอร์ ต้องดูเรื่องจริยธรรมไหม

ในยุคที่ห้องรับแขกของหลาย ๆ บ้านไม่มีทีวี ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจับโทรศัพท์ไถฟีดอ่านข่าวก่อนอาหารเช้า สิ่งที่เรามักเห็นกันจนชินตา คือนักข่าวหน้าเก่าที่ก้าวเข้ามาเป็นครีเอเตอร์หน้าใหม่

ผู้ประกาศข่าวหลายคนที่คุ้นหน้ากันทุกวันช่วงข่าวเช้า กลายเป็นครีเอเตอร์ที่มาอัดคลิปเล่าข่าวใน TikTok แม้จะได้อรรถรสจนต้องกดแชร์แค่ไหน แต่คำถามต่อไปก็คือ “แล้วจริยธรรมสื่อ…ยังสำคัญกับพวกเขาอยู่ไหม?”

เพื่อตอบข้อสงสัยให้กระจ่าง เรามาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘จริยธรรมสื่อมวลชน’ กันก่อน


Cr. สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ


‘จริยธรรมสื่อมวลชน’ ในความหมายของ สมสุข หินวิมาน และคณะ หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของสื่อมวลชน ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 32 ข้อ ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564  (สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, 2018) ยกตัวอย่างเช่น

  • สื่อมวลชนต้องตรวจสอบและไม่แต่งเติมเนื้อหาสาระของข่าวจนคลาดเคลื่อน หรือเกินจากข้อเท็จจริง
  • สื่อมวลชนต้องละเว้นการเสนอข่าวด้วยความลำเอียงหรือมีอคติเป็นเหตุให้ข่าวนั้นบิดเบือน อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลในข่าวและความเข้าใจผิดในสังคม
  • สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป ด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือหมู่คณะ
  • สื่อมวลชนต้องแสดงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
  • ฯลฯ

โดยรวมแล้ว จริยธรรมสื่อคือหลักปฏิบัติที่มุ่งเน้นไปที่ ‘ความจริง’ เป็นหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้สื่อมวลชนแต่งเติมหรือเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง และแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจในการนำเสนอข่าว แต่ทว่า…เมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามา ความกังวลบางอย่างก็เริ่มก่อตัวขึ้น

แม้การเข้ามามีอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย จะเป็นเครื่องการันตีว่าโลกกำลังวิวัฒน์ไปข้างหน้า หากแต่ก็สร้าง ‘คลื่นลูกใหญ่’ ให้หลาย ๆ วงการต้องปรับตัวใหม่ โดยเฉพาะ ‘วงการสื่อมวลชน’

ราว 5 – 6 ปีก่อน สื่อกระแสหลักช่องใหญ่เริ่มปรับตัว ทำรายการข่าวในรูปแบบกึ่งทอล์กโชว์ เปิดโต๊ะถกประเด็นทางสังคม ให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมไปกับเรื่องราวมากกว่าการฟังรายงานข่าวแบบธรรมดา พร้อม ๆ กับเปิด Facebook Live เอาใจนักท่องโซเชียลที่อยากฟังรายการข่าวแบบสด ๆ ทุกที่ ทุกเวลา


Cr. ประชาชาติธุรกิจ

แน่นอนว่าจุดประสงค์อันดับต้น ๆ ของการทำรายการข่าวเช่นนี้ คือความพยายามก้าวให้ทันโลกที่รุดหน้า และกอบกู้เรตติ้งช่วงรายงานข่าว ที่ไม่อาจประเมินด้วยระบบวัดเรตติ้งแบบเดิมได้ 

แต่เมื่อรายการข่าวตัดสินใจลงสนามช่วงชิง ‘เรตติ้ง’ จากคอนเทนต์ที่ดึงดูดมหาศาลบนโซเชียล ก็จำเป็นต้องปรับรูปแบบรายการให้สนุก เผ็ดมันส์ ครบรสมากขึ้น ผู้ประกาศข่าว (ซึ่ง ณ ขณะนี้เปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้ดำเนินรายการ) อาจต้องใช้คำถามชี้นำ การถามย้ำ หรือแสดงความคิดเห็นของตัวเองลงไปบ้างบางช่วงบางตอน และนั่นเองคือชนวนที่ทำให้ผู้ชม รวมถึงสื่อมวลชนบางส่วน เริ่มตั้งคำถามกับจริยธรรมสื่อบนโซเชียลมีเดีย 

สอดคล้องกับข้อมูลจากบทความวิชาการ ‘สื่อมวลชนกับจริยธรรมและจรรยาบรรณในยุคโซเชียลมีเดีย (Social Media)’ โดยดร. ณัชชา พัฒนะนุกิจ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ที่ระบุว่า “องค์กรสื่อลดบทบาทของสื่อในการเป็นนายทวารข่าวสารหรือ Gatekeeper และบทบาทในการกำหนดสิ่งที่ประชาชนจะรับรู้ผ่านสื่อในการรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ เกิดการพัฒนารูปแบบข่าวและการเล่าเรื่องที่ใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียมากขึ้นจนเกิดการตั้งคำถามเรื่องจริยธรรม เช่น ความรวดเร็วและความหลากหลายของข้อมูล อาจทำให้เกิดข่าวลือหรือความคิดเห็นที่ตรวจสอบไม่ได้ และมีแรงกดดันให้สื่อบางสื่อลดเพดานจริยธรรมลงหันไปทำข่าวที่เต็มไปด้วยอารมณ์สีสัน เพิ่มพื้นที่การขายข่าว เพื่อความอยู่รอดขององค์กร

อย่างไรก็ดี ไฟแห่งความกังวลที่มีอยู่แล้วดูเหมือนจะยิ่งโหมแรงขึ้น เพราะไม่เพียงแต่สื่อกระแสหลักจะกระโจนลงไปในโลกโซเชียลเท่านั้น แต่ตัว ‘นักข่าว’ หลาย ๆ คนเอง ก็พร้อมใจกันลงไปโลดแล่นบนโลกใบนั้นด้วย!

ตัวอย่างครีเอเตอร์สายข่าวที่เรารู้จักกันดี เช่น แคน อติรุจ กิตติพัฒนะ เจ้าของช่อง TikTok ‘@atirutkit’ ที่ยังคงรับหน้าที่ผู้ประกาศข่าวให้ไทยทีวีสีช่อง 3 ควบคู่กัน หนุ่ม อนุวัต เฟื่องทองแดง เจ้าของสโลแกนติดหู “อนุวัตจัดให้” ที่ปัจจุบันเปลี่ยนมาอ่านข่าวบน TikTok ช่อง ‘@anuwattiktok’ แทน และโย คณากร คงประทีป เจ้าของช่อง TikTok ‘@yokanakorn’ ผู้คว้ารางวัล Best News Creator บนเวที Thailand Influencer Awards 2024 ที่มั่นใจว่าคนเล่น TikTok คงไถฟีดเจอคลิปของพวกเขากันอยู่บ่อย ๆ 


Cr. Sanook

แม้ลีลาการเล่าข่าวของพวกเขาเหล่านี้ โดยรวมแล้วจะยังไม่ทิ้งลายนักข่าว ที่ออกเสียงชัดถ้อย ชัดคำ มีจังหวะหนักเบา และรวบประเด็นที่จะสื่อสารให้เข้าใจได้ภายในไม่กี่นาที แต่เมื่อลงสนามนี้ พวกเขาเองก็ต้องตอบคำถามผู้คนถึงความกังวลเรื่องจริยธรรมสื่อเช่นเดียวกัน

และหนึ่งในสาเหตุสำคัญนั้น ก็เป็นเพราะ ‘จริยธรรม’ บน ‘โซเชียลมีเดีย’ ยังคงเป็นเรื่องที่คลุมเครืออยู่ตราบจนทุกวันนี้

ข้อมูลจากบทความ ‘จริยธรรมกับโซเชียลมีเดีย’ จากสำนักข่าวอิศรา ชี้ให้เห็นว่า แม้เรามักพบคอนเทนต์ที่นำไปสู่ความรุนแรงบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อยู่เสมอ แต่อัลกอริทึมก็ไม่ได้ถูกสร้างมาให้เรียนรู้การคัดกรองที่ดีพอ เช่นเดียวกับวาทะที่สร้างความเกลียดชังและบิดเบือนความจริง ก็ปรากฏในรูปแบบของ Fake News บนโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น เรามักได้ยินข่าว ‘มิจฉาชีพ’ ที่แฝงตัวอยู่บนโลกโซเชียลมากมาย และหลายครั้งมิจฉาชีพพวกนี้มักแฝงตัวมาเป็น ‘คนดัง’ บนโลกโซเชียล หลอกให้ผู้ชมหลงเชื่อ แล้วทำธุรกรรม จนเสียทรัพย์มหาศาลไป

ความจริงก็คือ ยังมีคนดังบนโลกโซเชียลมากมายที่ไม่ได้ทำคอนเทนต์ร้อง เล่น เต้น แต่หันมาทำคอนเทนต์อ่านข่าวเหมือนนักข่าวมืออาชีพด้วย – คำถามคือประชาชนควรเชื่อถือข่าวสารจากแหล่งไหน ในเมื่อนักข่าวตัวจริงก็ลงมาเป็นครีเอเตอร์เช่นกัน แล้วเส้นแบ่งแห่งความน่าเชื่อถือนั้นจะอยู่ตรงไหน ที่สำคัญ! หากนักข่าวเองไม่ได้อ่านข่าวในนามของ ‘บุคลากรข่าว’ ผู้ชมอย่างเรา ๆ จะสามารถเชื่อมั่นในข่าวสารเหล่านั้นได้หรือไม่

ในมุมมองของเรา ‘จริยธรรมสื่อ’ ยังคงเป็นเรื่องจำเป็น แม้ผู้ที่ต้องถือไว้จะเป็น ‘ครีเอเตอร์สายข่าว’ ไม่ใช่ ‘บุคลากรข่าว’ ก็ตาม เพียงแต่อาจจะต้องปรับบางบริบทของหลักจริยธรรม ให้เข้ากับพื้นที่ในการนำเสนอ ซึ่งไม่ใช่ห้องข่าวหรือหนังสือพิมพ์ แต่เป็นบนโซเชียลมีเดีย


Cr. สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

และเพราะเหตุนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จึงร่วมกันร่างแนวปฏิบัติ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ. 2562 ขึ้น ซึ่งเราจะขอหยิบยกเนื้อหาบางข้อที่น่าสนใจ มาอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้

จะอ้างถึงแหล่งข่าวอื่นบนโซเชียลมีเดียก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากแหล่งข่าวด้วย 
ปัญหาหนึ่งที่คนไถฟีดอ่านข่าวตามเพจต้องเคยเจอ คือเพจข่าวชื่อดังในสมัยนี้ มักเอาเนื้อหาจากเพจอื่น โดยไมไ่ด้คัดกรองตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ดีก่อน จนเกิดเป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง ครีเอเตอร์สายข่าวเองก็เช่นกัน หากไม่ตรวจสอบให้ดี ก็อาจพลาดเอา Fake News มาเล่าให้ผู้ติดตามฟังได้

ดังนั้น ในแนวปฏิบัติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ข้อ 8 จึงกำหนดให้ “องค์กรสื่อมวลชนต้องให้ความเคารพและยอมรับข้อมูล ข่าวสาร หรือภาพ ที่ผลิตโดยบุคคลอื่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การคัดลอก เลียนแบบ ข้อความใด ๆ จากสื่อสังคมออนไลน์ พึงได้รับการอนุญาตจากเจ้าของข้อความนั้น ๆ ตามแต่กรณี รวมถึงมีกระบวนการเข้าถึงข้อมูลที่โปร่งใสและตรวจสอบได้”

ไถฟีดเจอข่าวเมื่อไหร่ อย่าลืมตรวจสอบแหล่งข่าวก่อน
ในฐานะครีเอเตอร์สายข่าว คุณต้องรู้เท่าทันข้อมูล และเช็กแหล่งข่าวให้แน่นอนก่อนถ่ายทอดทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ หรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่อันตรายเสียเอง 

ยกตัวอย่างเช่น คุณได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวเรื่องการแจกเงินพิเศษให้กับกลุ่มเปราะบาง แน่นอนว่าข้อมูลสำคัญเช่นนี้ ควรมีแหล่งข้อมูลที่ตรวจสอบได้ เช่น เว็บไซต์ทางการของหน่วยงานรัฐ หากไม่พบข้อมูลยืนยัน ก็อย่าเพิ่งทำคอนเทนต์เล่าข่าวเด็ดขาด

แม้ไม่มีทีมกล้องอยู่ข้างกาย คุณก็ต้องคัดกรองภาพก่อนนำเสนอเองให้ได้
หากคุณเป็นผู้สื่อข่าว การควบคุมเรื่องภาพที่ต้องออกอากาศอย่างทันทีทันใด อาจเป็นหน้าที่ของทีมถ่ายทำ คุณเพียงแต่ออกสัมภาษณ์แหล่งข่าวเท่านั้น แต่ในบทบาทของครีเอเตอร์สายข่าว คุณต้องละเว้นจากมุมภาพที่จะถ่ายทอดความรุนแรง มุมอนาจาร หรือการเปิดเผยอัตลักษณ์บุคคล ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ยั้งคิดก่อนแชร์! เพราะถ้าครีเอเตอร์สายข่าวแชร์ แปลว่ายืนยันข้อเท็จจริง
ไม่ว่าบนโซเชียลมีเดีย คุณจะยังคงนิยามตัวเองว่า ‘บุคลากรข่าว’ หรือไม่ แต่เมื่อทำคอนเทนต์รายงานข่าว และเมื่อมีผู้ติตตามเชื่อถือในข่าวของคุณแล้ว พึงเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ทุกการแชร์ กดไลก์ กดหัวใจ หรือทุก ๆ คอมเมนต์ใต้โพสต์ของคุณมีความหมาย โดยเฉพาะเมื่อคุณ Reaction ต่อประเด็นทางสังคมบางประเด็น ผู้คนจะตีความว่านั่นคือการยืนยันข้อเท็จจริงทันที!

สำหรับรายการข่าวกึ่งทอล์กโชว์ แม้ตัวเลขผู้ชม Facebook Live จะแสดงให้เห็นว่ารายการที่ออกอากาศสดบนโซเชียลมีเดียได้รับความนิยมมากขนาดไหน แต่นัยหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่า มีผู้ชมมากมายกำลังจับตาดูการทำงานของสื่อแบบเรียลไทม์ 

เช่นเดียวกับคอมเมนต์ใต้ไลฟ์ หรือใต้โพสต์คอนเทนต์เล่าข่าวของคุณ แม้ Engagement จะดีแค่ไหน แต่ทุก ๆ คอมเมนต์ ก็ชี้ให้เห็นว่า ผู้คนสามารถตรวจสอบคุณได้ง่ายกว่าสมัยที่พวกเขาชมการเล่าข่าวผ่านโทรทัศน์ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ชมไม่เห็นด้วยกับการแสดงสีหน้า ท่าทาง การใช้คำ หรือเนื้อหา ก็สามารถแสดงความคิดเห็นคัดค้าน ท้วงติง หรือตั้งคำถามกับคุณได้ทันที

และนี่เองคือเหตุผลสนับสนุนว่า ทำไมสื่อที่เปลี่ยนตัวเองเป็นครีเอเตอร์ ยังจำเป็นต้องดูเรื่องจริยธรรม

References:

แนวปฏิบัติ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๒

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ: https://www.presscouncil.or.th/regulation/9006 

สื่อมวลชนกับจริยธรรมและจรรยาบรรณในยุคโซเชียลมีเดีย (Social Media) 

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ: https://www.presscouncil.or.th/ethics/4280 

สื่อมวลชนกับจริยธรรมและจรรยาบรรณในยุคโซเชียลมีเดีย (Social Media) 

สำนักข่าวอิศรา: https://www.isranews.org/article/isranews-article/112076-social-media.html