Introduction
- วิทย์ไม่ใช่เรื่องที่เนิร์ด
- โมเมนต์สัมภาษณ์นักบินอวกาศ NASA
- รางวัลอันทรงเกียรติของ KornKT
ในโลกที่การค้นคว้าและการสำรวจดวงดาวยังคงเป็นความลับที่ซ่อนอยู่ในห้วงอวกาศ กร – กรทอง วิริยะเศวตกุล หรือที่รู้จักในนาม “KornKT” ได้กลายเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์และครีเอเตอร์ด้านอวกาศที่มีผลงานโดดเด่นไม่แพ้ใคร ด้วยการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศ ดาราศาสตร์ รวมถึงประวัติศาสตร์การสำรวจจักรวาลในแบบฉบับที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนก้าวออกไปสำรวจอวกาศด้วยกัน
การเดินทางของคุณกรเริ่มต้นจากความหลงใหลในดาราศาสตร์ตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยความชื่นชอบดวงดาวและการค้นคว้าหาความรู้นอกตำรา ทำให้เขาก้าวเข้าสู่การเป็นผู้เข้าแข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ และเป็นผู้เข้าแข่งขันอายุน้อยที่สุดที่เข้ารอบ 5 คนสุดท้ายด้วยวัยเพียง 13 ปี
แค่รู้สึกสนุกในสิ่งที่ชอบ
คุณกรเล่าว่าวัยเด็ก เป็นคนพูดไม่ชัดเป็นเด็กขี้อายหลังห้อง อยู่ในมุมมืด เวลาว่างมักจะชอบดู YouTube แล้วรู้สึกว่าทำไมคนที่ทำคอนเทนต์ดูเก่งจัง “คนที่อยู่หน้ากล้องเล่าเรื่องเทคโนโลยีอวกาศยังไงให้เราอินไปกับเขานะ” พอมาถึงจุดหนึ่งคุณกรก็รู้สึกอยากลองทำอะไรใหม่ๆ แบบเขาบ้าง เลยผันตัวเองมาลองทำวิดีโอดู จึงเริ่มต้นทำวิดีโอบน YouTube โดยไม่มีความรู้เรื่องกล้องเลยสักนิด แค่ตั้งกล้องและกดอัดถ่ายแบบง่ายๆ จนมาถึงตอนนี้ที่มีคอนเทนต์ในทุกแพลตฟอร์มและมีผู้ติดตามซัปพอร์ตหลักแสน
เรื่องวิทย์ไม่ได้เป็นเรื่องที่เนิร์ด
“เมื่อก่อนมีเพจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ไม่ถึง 10 เพจ คนที่ตามดูมีเฉพาะกลุ่มในระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้คนทั่วไปสามารถติดตามข่าวและ Relate ไปกับปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ เช่น ฝนดาวตก สุริยุปราคา หรือการค้นพบดาวดวงใหม่ โซเชียลมีเดียทำให้อวกาศใกล้ตัวคนดูมากขึ้นครับ”
คุณกรอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และในฐานะครีเอเตอร์และนักสื่อสารดาราศาสตร์ เขาต้องทำการบ้านอย่างหนักในทุกคลิป เพื่อย่อยเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่และซับซ้อนให้ง่ายต่อการเข้าใจของคนทั่วไป โดยไม่ต้องใช้คำพูดหวือหวาและ Clickbait ที่บิดเบือนเนื้อหา แต่จะขมวดเรื่องที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่ายๆ และแม้จะเข้าใจได้แล้วต้องตีโจทย์ว่าทำไมเรื่องดาราศาสตร์ถึงจำเป็นต้องรู้ รู้แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อคนดูอย่างไร
พูดคุยตัวต่อตัวกับ Charles Gemar
คุณเชื่อเรื่องกฏของแรงดึงดูดไหม? ถ้าเราชอบอะไรมากพอ มันจะดึงดูดเราในที่สุด
และวันนั้นก็มาถึง หนึ่งในความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ของคุณกรคือการได้พูดคุยตัวต่อตัวกับ Charles Gemar นักบินอวกาศ NASA นี่คืออีกเรื่องคอมพลีทในชีวิตของคุณกร คือการที่ได้คุยกับนักบินอวกาศตัวเป็นๆ คุณกรเล่าว่าเป็นงานที่ยาก ก่อนจะไปสัมภาษณ์ เขาเตรียมตัวค่อนข้างหนักเหมือนกัน เพราะมีเวลาพูดคุยแค่ 30 นาที
“เราได้เห็นถึง Passion การสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น มันเหมือนการเปลี่ยนมุมมองของคน ทำให้เราได้เห็นโลกทั้งใบในมุมมองอีกคนหนึ่งอยู่ บนโลกเราแหงนมองขึ้นฟ้าแต่พออยู่บนอวกาศเรามองจากฟ้าลงมาสู่พื้นดิน ว่าโลกของเราก็แค่นี้ และมันเป็นดวงดาวที่สวยงามมาก”
รางวัลอันทรงเกียรติ “KornKT”
คอนเทนต์ของคุณกรได้พาเรื่องของวิทยาศาสตร์มาถึงตรงจุดนี้ได้ เขาจึงอยากให้รางวัลนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้กับคนที่มีความฝันที่ยิ่งใหญ่ ให้รู้ว่าท้องฟ้าไม่ใช่ข้อจำกัด แต่เมื่อพ้นทองฟ้าไป ยังมีอวกาศที่กว้างไกลกว่าโลก
“ผมจะไม่หยุดเรียนรู้ และจะสร้างคอนเทนต์สายวิทย์อย่างสร้างสรรค์ให้ผู้ชมพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องอวกาศกันได้อย่างสนุก ไม่รู้สึกว่ามันไกลตัวเหมือนที่เคย” คุณกรพร้อมเป็นฟันเฟืองให้กับวงการสื่อสาร ดาราศาสตร์และอวกาศในประเทศไทยไปได้ไกลกว่านี้
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ “กรทอง วิริยะเศวตกุล” หรือ “KornKT” เด็กเนิร์ดหลังห้องที่กลายเป็นแนวหน้าของคอนเทนต์ดาราศาสตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กสายวิทย์และผู้หลงใหลในเรื่องดวงดาวได้ไม่มากก็น้อย