ก้อง ชณัฐ วุฒิวิกัยการ เส้นทางรักษ์โลกของ ‘ก้อง กรีนกรีน’ กับภารกิจเด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว

เส้นทางรักษ์โลกของ ‘ก้อง กรีนกรีน’ กับภารกิจเด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว

Introduction

  • ก้อง ชณัฐ วุฒิวิกัยการ เปลี่ยนความคิดที่เคยเชื่อว่า ‘ขยะ’ คือปัญหาไกลตัว และแก้ไม่ได้ที่ตัวเอง เริ่มบันทึกไดอารี่ขยะ ใน 1 วัน สร้างขยะหลายสิบชิ้น
  • เขาไม่ใช่สายหักดิบ ค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลง ลดการสร้างขยะจาก 7 ชิ้น เหลือ 5 ชิ้น จนกระทั่งกลายเป็น 0 ในที่สุด
  • เริ่มทำคลิป TikTok จากพื้นฐานที่มีในโลก Big Production สู่คลิปสั้นๆ เข้าใจเรื่องขยะในไม่กี่นาที
  • ทุกอย่างเริ่มได้ที่ตัวเอง ถ้าใจอยากทำ ก็ลงมือทำได้เลย อย่าคิดว่ามันยาก อย่ายึดติดกับข้อจำกัดแบบเดิมๆ

‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ คำๆ นี้ คือสิ่งที่อธิบายเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนโลกทั้งใบของ คุณก้อง ชณัฐ วุฒิวิกัยการ Influencer สายกรีน เจ้าของเพจ ‘ก้องกรีนกรีน’ ที่ต้องการให้ความรู้ สร้างความตระหนักให้คนไทย หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องเล็กๆ ที่ถูกละเลยมานานอย่าง ‘การทิ้งขยะ’ ของคนไทย จนทำให้ในแต่ละปี ขยะจำนวนมหาศาลมีจุดจบอย่างน่าเศร้าที่หลุมฝังกลบ และต้องอาศัยระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 400-500 ปี กว่าที่ขยะชิ้นนั้นจะย่อยสลายไป

ในบทความนี้ 9 Conversations ขอพาผู้อ่าน ไปพูดคุยกับคุณก้อง Influencer สายกรีนที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ การันตีด้วยรางวัล The Best Green Change Maker จากเวที Thailand Influencer Awards 2021 ถึงเบื้องหลังความพยายาม รวมถึงแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนโลกทั้งใบด้วยสองมือของ ‘ก้องกรีนกรีน’

คุณก้องเริ่มต้นด้วยการเล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไป ตัวเขาเองก็เหมือนคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีความเข้าใจในการแยกขยะมากนัก “บางอย่างที่ขายได้ อย่างหนังสือพิมพ์ ขวดน้ำ ขวดแก้ว หากเก็บไว้ขายได้ก็จะแยก”

เมื่อก่อนไม่สนใจว่าจะได้ขยะกี่ชิ้น เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ มันแก้ที่เราไม่ได้หรอก

แต่นับว่าโชคดีที่การเดินทางไปเรียนต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา กลายเป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่ทำให้คุณก้อง ซึมซับนิสัยการแยกขยะเล็กๆ น้อยๆ แม้ว่าสหรัฐอเมริกา จะไม่ใช่ประเทศที่เข้มงวดเรื่องการแยกขยะมากนัก แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าที่นั่น มีการแยกขยะมากกว่าไทย

หลังจากเรียนจบ และเดินทางกลับมาอยู่ที่ประเทศไทย เส้นทางการแยกขยะของคุณก้อง จึงเริ่มต้นขึ้น เพราะ “ติดนิสัยแยกขยะมาจากประเทศที่บังคับให้แยก ถึงกลับมาไทยจะไม่ได้มีกฎหมายบังคับ แต่ก็ยังทำอยู่ อาจเป็นเพราะความเคยชิน และรู้ว่าขยะที่แยกมันมีประโยชน์กับใครสักคน”

คุณก้องรู้ดีว่าต้นทางของปัญหาขยะล้นเมืองล้วนเกิดขึ้นจากในชีวิตประจำวัน เขาได้ทดลองนับจำนวนขยะที่ตัวเองสร้างขึ้น โดยการถ่ายรูปบันทึกเป็นไดอารี่ขยะลงใน Instagram Stories และพบว่าในแต่ละวันตัวเขาเองสร้างขยะหลายสิบชิ้น แม้แต่การซื้อข้าวมันไก่หนึ่งมื้อ “ข้าวมันไก่สร้างขยะ 7-8 ชิ้นในมื้อเดียว ทั้งกระดาษห่อ ถุงน้ำจิ้ม หนังยาง และถุงน้ำซุป”

เมื่อเห็นภาพขยะที่ตัวเองสร้างขึ้นอย่างชัดเจน คุณก้องจึงตัดสินใจเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดจำนวนขยะที่สร้างขึ้น “ถือกล่องข้าวไป ไม่รับเครื่องปรุง หรือปรุงที่หน้าร้านเลย พอบันทึกในไดอารี่ เราก็เห็นว่าขยะมันลดลงได้จาก 7 ชิ้น เหลือ 5 ชิ้น จนในที่สุดก็เหลือ 0”

“ผมใช้วิธีค่อยๆ สังเกตตัวเอง ค่อยๆ แก้ไป ไม่ใช่สายหักดิบ ประมาณว่าเห็นพลาสติกไม่ได้เลยจะเป็นจะตาย แต่มันต้องสอดคล้องกับชีวิต ต้องค่อยๆ ปรับ นี่คือสิ่งที่ใช้กับตัวเอง และบอกคนอื่น ถ้ายังไม่พร้อม 100% ให้คุณเริ่มจาก 10% ก่อนก็ได้”

ซึมซับความตระหนักเรื่องขยะ และสิ่งแวดล้อม จากคนต้นเรื่อง

ในการทำงานเบื้องหลังของคุณก้อง ทั้งการเป็นพิธีกร และครีเอทีฟรายการสารคดีน้ำดีอย่าง กบนอกกะลา นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คุณก้องเริ่มซึมซับแนวคิดรักษ์โลกทีละน้อย เช่นเดียวกันกับการดูสารคดีสัตว์โลกจากต่างประเทศ ที่ความตั้งใจแรก คือการหามุม และเทคนิคการถ่ายทำสวยๆ ไปใช้ในการทำงาน แต่กลายเป็นว่าสารคดีเหล่านี้ กลับตีแผ่ความจริงอันน่าเศร้าของสัตว์โลก ที่ล้วนได้รับผลกระทบจากการบริโภคของมนุษย์ และเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้คุณก้องได้ฉุกคิดอย่างจริงจังอีกครั้ง

“พอดูสารคดีหลายๆ ตอน จะรู้ว่าสิ่งที่เราทำได้ง่ายที่สุด และเห็นผลที่สุดเลย คือเรื่องขยะ ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นเรื่องการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก เราอาจจะทำได้แค่ช่วยประหยัดพลังงานในชีวิตประจำวัน แต่ต้นทางจริงๆ ที่ต้องไปแก้ คือระบบอุตสาหกรรม และนโยบายระดับมหภาค คนทั่วไปอาจช่วยอะไรไม่ได้มาก”

“แต่เรื่องขยะเป็นเรื่องของทุกคน เพราะเราทิ้งทุกวัน คนไทยสร้างขยะถึง 1-2 กิโลกรัม เลยรู้สึกว่าเรื่องนี้มันทำได้เลย มันเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าหลายคนทำมันจะได้ผล”

“ตัวผมมีพื้นฐานการเล่าเรื่องจากอาชีพที่ทำอยู่แล้ว ก็คิดว่าเราน่าจะลองเล่าเรื่องนี้ดู เลยเปิดช่อง ‘ก้องกรีนกรีน’ ขึ้นมา ทุกคอนเทนต์เกิดจากที่เราลองมาแล้ว จนรู้ว่าจะเจอปัญหาชีวิตแบบไหนถ้าแยกขยะ (หัวเราะ) ถ้าพกกระบอกน้ำ พกปิ่นโต จะเจอปัญหาแบบไหน เราทำเองจนรู้ และสามารถแนะนำคนอื่นได้”

คำถามสุดฮิต คือ จะแยกขยะไปทำไม? ในเมื่อรถขยะก็นำขยะทั้งหมดไปทิ้งรวมกันอยู่ดี

คุณก้อง ไขข้อสงสัยให้เราฟังอย่างชัดเจนว่า จริงๆแล้ว รถเก็บขยะเขาก็มีการแยกขยะบางประเภท อย่างเช่น ขวดพลาสติก และกระป๋อง เพราะขยะพวกนี้คือเงิน ขวด PET ร้านขายของเก่าบางร้านอาจรับซื้อในราคาสูงถึง 10 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ส่วนกระป๋องอลูมิเนียมอาจขายได้ถึงกิโลกรัมละ 50 บาทเลยทีเดียว พอแยกขยะพวกนี้แล้ว ก็ต้องแยกขยะประเภทอื่นไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้น “คนที่แยกให้เรา คือพี่ๆ รถขยะ นี่คือความจริง”

ขยะทุกชิ้นมีทางไป ไม่ได้ไปหลุมฝังกลบทั้งหมด

ทางแก้ง่ายๆ ของคนอยากแยกขยะ เพื่อไม่ให้ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ต้องมีจุดจบที่หลุมฝังกลบ คุณก้องแนะนำว่า “ถ้ากลัวว่าเขาจะเอาขยะไปรวมกันโดยที่ไม่ได้แยก ก็หาที่ไปให้ขยะของเรา ไม่ต้องพึ่งพารถขยะสิ”

“เอาไปขายร้านขยะแถวบ้าน ไปแค่เดือนละครั้ง รวบรวมกระดาษ กระป๋อง ขวดพลาสติก ขวดพลาสติกทึบ ขวดนมที่แยกไว้ เอาไปขาย ไม่ต้องผ่านรถขยะ มั่นใจได้แน่นอนว่าเขาไม่เอาไปรวมกัน เพราะเขารับซื้อเพื่อนำขยะเหล่านี้ไปรีไซเคิล”

“ถุงพลาสติก พลาสติกยืด บับเบิ้ลกันกระแทก ที่เรามีเยอะๆ ส่งไปที่โครงการวนได้ มีตู้รับแทบทุกห้าง พกไปแล้วเอาไปหย่อนตู้เลย”

ส่วนขยะบางชนิดที่คุณก้องเรียกว่า ‘ขยะกำพร้า’ เช่น ถุงรีฟิลล์อย่างถุงน้ำยาล้างจาน หรือถุงขนมขบเคี้ยวที่ด้านในเป็นฟอยล์อลูมิเนียม ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ปลายทางของขยะพวกนี้จะไปอยู่ที่หลุมฝังกลบ “ผมจะรวบรวมไว้ก่อน แล้วไปส่งที่ N15 ซึ่งมีกิจกรรมขยะกำพร้าสัญจร มีจุดนัดรับขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ทุกเสาร์-อาทิตย์เลย เขาจะเอาไปทำเป็นเชื้อเพลิง ผลิตกระแสไฟฟ้าให้เราใช้ เป็นพลังงานทดแทนถ่านหินได้”

แม้ว่าข้อมูลการแยกขยะที่คุณก้องเล่าให้เราฟัง จะดูเหมือนเป็นเรื่องยาก และซับซ้อน แต่ในความจริงแล้ว คุณก้องยืนยันว่า “ข้อมูลเดี๋ยวนี้หาไม่ยาก พอเราตั้งข้อสังเกตกับขยะที่เราสร้างขึ้น เราจะมีคำถามแล้วว่าขยะอันนี้ทิ้งที่ไหน แล้วก็จะไปหาข้อมูล เพราะเราใส่ใจที่จะอยากรู้”

แยกขยะแล้วได้อะไร ทำแล้วใครได้ประโยชน์ ?

เมื่อถามถึงแรงจูงใจที่จะทำให้คนไทยหันมาแยกขยะ คุณก้องเริ่มต้นด้วยการพูดถึงผลกระทบในวงกว้างที่ดูเหมือนจะไกลตัว แต่กลับโยงมากระทบชีวิตของเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“อากาศแปรปรวน พายุรุนแรง น้ำท่วมใหญ่ในรอบหลายสิบปี ไฟป่า ล้วนเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากตัวเราทั้งหมด ไทยเองก็เจอน้ำท่วมหนักอยู่เรื่อยๆ ลองคิดว่าถ้าน้ำท่วมบ้านเราล่ะ เราก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน”

“ประเทศไทยติดท็อป 10 ปริมาณขยะในทะเลมากที่สุดในโลก เมื่อขยะแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ปลากินเข้าไป และเราก็กินปลาอีกที ส่งผลต่อสุขภาพแน่นอน ไม่กี่ปีก็เห็นผล”

“เงินไม่ใช่แรงจูงใจที่จะกระตุ้นให้คนไทยหันมาแยกขยะแน่นอน เก็บขยะไว้ขายทั้งเดือนอาจได้แค่หลักสิบ หลักร้อยบาท ที่ได้น้อยส่วนหนึ่งเพราะบ้านเรายังแยกขยะไม่ดี โรงงานรีไซเคิลไม่อยากรับซื้อ เขารับขยะจากต่างประเทศเข้ามาใช้ง่ายกว่า”

สิ่งที่คุณก้องมองว่าเป็นแรงจูงใจให้กับคนไทยในการแยกขยะ กลับกลายเป็นเรื่องของความรู้สึก และสร้างจิตสำนึกซะมากกว่า “แค่แยกขยะเล็กๆ ที่เราสร้างขึ้นทุกวัน แต่มันจะสะเทือนไปถึงบ่อขยะที่กองเป็นภูเขา เพราะเมื่อขยะถูกส่งไปถึงบ่อแล้ว มันจะอยู่บนโลกไปอีก 400-500 ปี”

หลังจากที่เราคุยเรื่องขยะมาพอสมควร อีกพาร์ทหนึ่งของชีวิตการทำงานของคุณก้อง คือเจ้าของเพจ ‘ก้องกรีนกรีน’ ที่ทำคอนเทนต์การแยกขยะได้สนุกที่สุดให้กับคนไทย

บอกลา Big Production สู่คอนเทนต์สั้นๆ บน TikTok

ด้วยความที่คุณก้อง เคยอยู่ในวงการ Big Production มาตลอด ทำให้ติดวิธีการเล่าเรื่องแบบมีโครงสร้าง มีธรรมเนียมของรายการทีวี มีเกริ่นนำ และ Insert ปิดจบ เพราะคิดว่าการทำงานแบบนี้คือ ‘ท่ามาตรฐาน’ ที่แสดงถึงคุณภาพ แต่แล้ววันหนึ่ง คุณก้องกลับมีข้อสงสัยว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ที่ทำคลิปใน YouTube ไม่ต้องมีกระบวนการผลิตอะไรมากมาย แต่กลับได้รับความนิยมล้นหลาม

“คิดไปคิดมา เลยตกตะกอนได้ว่าคอนเทนต์จะมีคุณค่ามากที่สุดก็ต่อเมื่อมีคนดู ถ้าไม่มีคนดู ต่อให้ดีแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์”

ด้วยจุดนี้เองที่ทำให้คุณก้องเริ่มศึกษาพฤติกรรมคนดู “เขามีเวลาอยู่กับโทรศัพท์แค่นี้เอง เขาอาจจะอยู่ที่ป้ายรถเมล์ รอรถตู้กลับบ้าน ไถ TikTok ดูเพลินๆ แล้วเจอเราเด้งขึ้นมา ถ้าจะมัวแต่เกริ่นนำ เขาเลื่อนผ่านแน่นอน สิ่งดีๆ ที่อยากบอกก็ส่งไปไม่ถึง”

“ผมจะเล่าแบบเข้าเรื่องเลย คิดมาแล้วว่าคลิปไหนที่คนชอบ แม้แต่คลิปไปเดินตลาดหน้าหมู่บ้าน ใส่รองเท้าแตะ ถือปิ่นโต ถือถุงซิลิโคนไปใส่ยำ ยังมีคนดูเป็นล้าน เพราะมัน Touch กับเขา ค่อยๆ แกะรหัสไปจากคอมเมนต์ว่าคนดูชอบอะไร”

นอกจากการทำคอนเทนต์ให้ถูกใจคนดูแล้ว ‘ก้องกรีนกรีน’ ยังเป็นความสุขทางใจของคุณก้องเช่นกัน เพราะที่ผ่านมา คุณก้องเคยผ่านช่วงเวลาการทำคอนเทนต์ที่ไม่มีคนดูมาแล้ว

“ผมไม่ได้เรียกร้องให้คนมาดูโดยที่เนื้อหามันไม่เป็นประโยชน์นะ ผมพยายามทำเนื้อหาดีๆ ตั้งใจคิด ตั้งใจทำ และดีใจมากที่มีคนดู เพราะเขาเห็นว่าคอนเทนต์เรามีคุณค่า”

ทำคอนเทนต์แล้ว ‘ใจฟู’ เมื่อผู้ติดตามลงมือทำจริง

ด้วยความที่เป็น Influencer สายกรีน บางครั้งพลังบวกที่ส่งออกไปแต่ละคอนเทนต์ ได้สะท้อนกลับมาที่ตัวคุณก้องเองเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อมันได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ให้กับสังคมได้จริง

“เวลาคนคอมเมนต์ หรือหลังไมค์มาบอกว่า เริ่มแยกขยะแล้วเพราะดูพี่ รู้สึกว่านี่แหละ ไม่เคยกล้าเรียกตัวเองว่า Influencer เลย จนเจอเหตุการณ์นี้ ไม่ต้องเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดที่ใหญ่โตมากก็ได้ แค่มีผู้ติดตามในเพจเราสิบคน ร้อยคน ส่งข้อความมาบอกว่าแยกขยะเพราะเรา ถ่ายรูปมาให้ดูว่าแยกถูกหรือยัง อันนี้ทิ้งยังไง พวกเขามีความตระหนักมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น รู้สึกแฮปปี้มากกับสิ่งเหล่านี้”

“ใจฟูจริงๆ เขาไม่ได้ดูเราแค่สนุกแล้วจบ แต่เขาเก็บไปคิด ไปทำ จากคนที่ไม่เคยแยกขยะเลย ก็ได้เริ่มเรียนรู้ เริ่มลอง เริ่มชวนคนอื่นๆ เอาจริงๆ แค่เขาแยกขยะได้ซัก 2 ถัง ผมก็ใจฟูแล้ว (ยิ้ม)”

อย่ากลัวข้อจำกัด อย่าคิดว่ามันยาก ถ้าอยากทำแล้ว ต้องลงมือทันที

9 Conversations ถามคุณก้องทิ้งท้ายว่า “หากได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ติดตาม หรือใครก็ตามที่กำลังมีความคิดอยากแยกขยะ แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ” คุณก้องอยากบอกอะไรกับพวกเขา

“ถ้าใจอยากก็ต้องเริ่มทำเลยครับ อย่าไปคิดว่ามันยาก อย่ายึดติดกับข้อจำกัดเดิมๆ อย่ายึดติดว่าต้องพกอะไรมากขนาดนี้ อย่ากลัวสายตาคนอื่น อย่าคิดว่าแม่ค้าจะต้องหงุดหงิด มันมีทางออกเสมอสำหรับปัญหาพวกนี้”

“สมมติเราจะซื้อข้าวมันไก่ เตรียมกล่องมาให้ครบเลย ถึงที่ร้านก็เปิดฝา บอกแม่ค้าว่า อันนี้ใส่ข้าว ใส่น้ำจิ้ม ใส่น้ำซุป เขาไม่ต้องคิดอะไรเพิ่ม เขาแค่ทำตาม ไม่หงุดหงิดแน่นอน มันอยู่ที่ตัวเราทั้งนั้น”

“ถ้าตั้งใจจะทำแล้วก็ลงมือเลยครับ ‘ก้องกรีนกรีน’ พร้อมจะเป็นแหล่งข้อมูลให้คุณ ไม่ว่าจะอยู่บ้าน หรือคอนโด ที่ไหนก็ตาม คุณจะขับรถยนต์ นั่งรถไฟฟ้า รถตู้ รถเมล์ คุณก็ทำได้ ไม่มีอะไรยากเลยครับ แค่เริ่มเท่านั้นเอง”