dataCon 2024 ครั้งแรกในไทย รวมพลังคนดาต้าขับเคลื่อนอนาคต เปลี่ยนแปลงสังคม

ครั้งแรกกับงาน dataCon 2024 พื้นที่พบเจอ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่อสร้าง “ชุมชนคนดาต้า” นำไปสู่การทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคต


เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับงาน dataCon 2024: Data Sparks Orbit, Change Takes Flight! ให้ข้อมูลเชื่อมวงโคจร จุดสร้างการเปลี่ยนแปลง งานอีเวนต์ครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 5 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ True Digital Park โดยตั้งใจให้เป็นการสร้างพื้นที่ให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลหรือสนใจงานข้อมูลในด้านต่างๆ และอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้มีโอกาสมาพบเจอ รู้จัก และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เกิดเป็น “ชุมชนคนดาต้า” ที่อาจนำไปสู่โอกาสในการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนสังคมในอนาคต อันเกิดจากการรวมตัวกันของ Rocket Media Lab, Skooldio, WeVis, Punch Up, Boonmee Lab, HAND, 101 และ 101PUB กลุ่มองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในด้านต่างๆ ที่เชื่อในพลังของการใช้ข้อมูลในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้

โดยไฮไลต์ของการจัดงาน Data Con 2024 ครั้งนี้คือ สปีกเกอร์ทั้ง 5 ช่วงที่จะมาร่วมแชร์มุมมอง ความคิดเห็น และประสบการณ์ในการใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านต่างๆ ในช่วงเช้าของการจัดงาน เริ่มต้นด้วย

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กับหัวข้อ “ข้อมูลคนหาย อะไรอีกที่หายนอกจากคน” 

เอกลักษณ์เริ่มต้นด้วยข้อมูลที่น่าสนใจว่า “ในประเทศไทย ทุก 4 ชั่วโมงจะมีคน 1 คนหายออกจากบ้าน” โดยการทำงานตามหาคนหายของมูลนิธิกระจกเงาเริ่มเมื่อ 30 ปีก่อน จากกรณีการตามหาลูกสาวของชาวบ้านใน ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ที่หายตัวไป และในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา มีผู้แจ้งคนหายทั้งหมด 18,887 ราย โดยพบตัวแล้ว 16,315 ราย หรือคิดเป็น 86% ของการแจ้งเหตุ และมี 2,232 รายที่ยังอยู่ระหว่างการติดตาม ตัวเลขเหล่านี้ทำให้เชื่อมั่นได้ว่ามูลนิธิกระจกเงามีฐานข้อมูลคนหายที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย

หนึ่งในกรณีที่สะท้อนถึงปัญหาการจัดการข้อมูลคนหายในประเทศไทยที่เอกลักษณ์เล่าบนเวทีก็คือ การค้นหาหญิงสาวอายุ 19 ปี ที่หายตัวไปนานถึง 7 ปี แม่ของเธอได้รับข้อความจากเพื่อนของคนหายว่าไปทำงานต่างประเทศ แต่ไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง จนในที่สุดเมื่อไม่มีข้อมูลการทำงานหรือการเคลื่อนไหวทางราชการใดๆ มูลนิธิได้ลงพื้นที่และรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง พบว่าหญิงสาวรายนี้เคยมีความสัมพันธ์กับ ผอ. โรงเรียนคนหนึ่งที่ใช้ความรุนแรง และเธออาจเป็นเหยื่อของการฆาตกรรม ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนำไปสู่การค้นหาศพนิรนามในรัศมี 200 กิโลเมตรจากจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายที่เธอทำงาน จนพบศพหญิงนิรนามที่มีรอยสักตรงกับคนหายถูกยิงเสียชีวิตแล้วนำศพไปทิ้งใกล้โรงเรียนที่ ผอ.คนดังกล่าวประจำอยู่ หลังจากการตรวจ DNA พบว่าศพนี้ตรงกับแม่ของผู้หายตัวไป คดีนี้จบลงด้วยการจับกุม ผอ.โรงเรียนผู้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม 

สิ่งสำคัญที่มูลนิธิกระจกเงาย้ำเตือนคือการใช้ข้อมูลในการแก้ไขปัญหาสังคม ไม่เพียงแค่ความสามารถด้านเทคนิคหรือการจัดเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่หัวใจของการทำงานนี้คือการมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้คนและคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย

ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักวิจัยด้านรัฐศาสตร์ ISEAS กับหัวข้อ “การเมืองแบบใข่ดาวหลายใบ : อ่านพลวัตการเมืองใหม่ผ่านข้อมูลเลือกตั้ง” 

โดยณพลตั้งต้นจากทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ของอ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และวลีที่ว่า ‘คนชนบทตั้งรัฐบาล คนเมืองล้มรัฐบาล’ โดยคำว่าไข่แดง หมายถึงพื้นที่ความเจริญหรือคนเมือง ในขณะที่ไข่ขาว คือพื้นที่ชนบทรอบไข่แดง และจากเหตุการณ์การเมืองในอดีตจะพบว่าพรรคการเมืองที่สามารถชนะเลือกตั้งในกรุงเทพฯ กลับเป็นคนละพรรคกับพรรคการเมืองที่สามารถสร้างคะแนนนิยมได้ค่อนข้างดีในพื้นที่ต่างจังหวัดโดยรวม การเกิดขบวนการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเวลานั้น มีส่วนประกอบเป็นชนชั้นกลางในเมืองเป็นหลัก

แต่จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมามีข้อสังเกตว่าเส้นแบ่งระหว่างเมืองและชนบทนี้ไม่ได้อยู่ในรูปแบบดั้งเดิมที่เมืองคือ กรุงเทพฯ และชนบทคือต่างจังหวัด กลับพบว่ามันได้ถูกแปรรูปไปเป็นลักษณะที่เรียกว่า “ไข่ดาวหลายใบ” ตัวอย่างจากพรรคก้าวไกลที่สามารถชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ และยังสามารถชนะการเลือกตั้งในหลายจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ นอกจากนี้หากพิจารณาจากผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จะสังเกตได้ว่าพรรคก้าวไกลนั้นมาเป็นที่หนึ่งหรือที่สองใน 400 เขตการเลือกตั้ง ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมที่กระจายตัวอย่างกว้างขวาง และก้าวข้ามพรมแดนเดิมระหว่างเมืองและชนบท และไม่ใช่แค่ไข่แดงกับไข่ขาว แต่กลับกลายเป็นไข่ดาวหลายใบ

ณพลมองว่า การที่คนชนบทนั้นสามารถเลือกพรรคการเมืองกับผู้สมัครแบบแยกกันได้ สะท้อนถึงอำนาจต่อรอง และอิสรภาพในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งโดยตรงกับภาพของทฤษฎีสองนคราฯ ที่มักจะมองว่า คนชนบทนั้นถูกครอบงำ ถูกหลอก หรือเป็นเหยื่อของระบบอุปถัมภ์ 

ดร.ชนิตา ว่องวิริยะวงศ์ CEO แห่ง EATLAB กับหัวข้อ “ข้อมูล มนุษย์และไอเอ : ความเป็นไปได้ใหม่ในการจัดการปัญหาทุจริต” 

โดยดร.ชนิตา ว่องวิริยะวงศ์ เล่าถึงปัญหาการทุจริตในร้านอาหาร และประสบการณ์ส่วนตัวในการลดคอร์รัปชันในธุรกิจร้านอาหารด้วยกล้องเอไอ ข้อมูลปัจจุบันจากองค์กร Association of Certified Fraud Examiners ให้ข้อมูลว่า การฉ้อโกงบริษัท (corporate fraud) มีสัดส่วนอยู่ที่ 3-7 เปอร์เซนต์ของยอดขายของบริษัท ขนาดของเงินที่รั่วไหลจากการทุจริต ทั้งออฟไลน์ออนไลน์ รวมทั้งอาชญากรรมไซเบอร์ อยู่ประมาณ 161 ล้านล้านบาท ประมาณ 10 เท่าของ GDP ไทย หรือขนาดเท่ากับ GDP ของญี่ปุ่น ซึ่งมี GDP มากเป็นคนอันดับสามของโลก

ส่วนใหญ่การยักยอกทรัพย์ในธุรกิจร้านอาหารจะอยู่ที่การคิดเงินที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาร้านโยเกิร์ตแลนด์ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทย จำนวนสาขาลดน้อยลงจาก 10-20 สาขาเหลือ 4 สาขา เพราะมีพนักงานโกง ปกติแล้วลูกค้าจ่ายเงินตามน้ำหนัก สิ่งที่พบก็คือ การชั่งน้ำหนักไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบคิดเงิน (POS) ทำให้เกิดการโกงได้ง่าย ซึ่งบริษัทแม่ไม่ได้คิดถึงกรณีที่จะเกิดการโกงลักษณะนี้มาก่อน

โดยสิ่งที่ EATLAB ทำคือการนำกล้องที่มี AI ไปติด เช่น ร้านบุฟเฟต์ การโกงของพนักงานคือ ไม่คีย์จำนวนลูกค้าให้ตรงจริงแล้วก็เก็บเงินส่วนต่าง หรือไม่เปิดบิลเลย ซึ่งจากการติดกล้อง AI พบว่ามีการทุจิตในหนึ่งวันประมาณ 3 ถึง 4 พันบาทต่อร้าน คิดเป็นประมาณ 1 เปอร์เซนต์ของยอดขาย การติดกล้อง AI สามารถที่จะลดจำนวนของการโกงที่อาจเกิดขึ้นได้ประมาณ 88 เปอร์เซนต์

Nabilah Said และ Siti Aishah หัวหน้าบรรณาธิการและหัวหน้าทีม Front-end จาก Kontinentalist กับหัวข้อ “Call to Action: Creating data stories for impact”

Kontinentalist เป็นบริษัทที่ทำงานด้านข้อมูลและการออกแบบจากสิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายการทำงานอยู่ที่ทำให้คนเข้าใจเอเชียมากขึ้นผ่านข้อมูล โดยใช้ data visualisation, data storytelling ซึ่งการนำเสนอที่ดีนั้นจะสร้างสามารถสร้างอิมแพ็กต์ให้กับคนที่ได้ดูข้อมูลผ่านการออกแบบนี้ได้ โดยยกตัวอย่างงาน Abandoned at Sea: The Desperate Journeys of Rohinga Refugees ที่ Kontinentalist ร่วมกับ UNHCR นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ต้องอพยพผ่านทางเรือออกจากเมียนมาไปยังประเทศอื่น โดยใช้ข้อมูลจากรายงานที่เป็นสถิติต่างๆ เช่น เจอเรือผู้อพยพที่ไหน ถูกจับจากเจ้าหน้าที่ชาติใด จากตัวเลขก็นำข้อมูลมาทำให้มีความหมายมากขึ้นด้วยเรื่องเล่าที่ทำให้คนอ่านเข้าใจอันตรายที่ผู้อพยพต้องเผชิญ ด้วยการใส่เรื่องเล่า พร้อมวิดีโอและคลิปเสียงประกอบ นอกจากนี้ก็ทำให้คนอ่านเห็นภาพด้วยแผนที่การเดินทาง เพื่อให้เข้าใจระยะทางและความยากลำบากของผู้อพยพตลอดเส้นทาง

การเล่าเรื่องด้วยภาพสามารถสื่อความเห็นอกเห็นใจและมีอิทธิพลต่อประสบการณ์ของผู้อ่าน หน้าที่ของคนทำงานออกแบบก็คือ เรียบเรียงข้อมูลต่างๆ ให้สมเหตุสมผลและหาวิธีที่มีความหมายเพื่อสื่อสารในรูปแบบภาพ ขณะเดียวกันทุกเรื่องราวเกี่ยวกับข้อมูลต้องมีสารที่ต้องการสื่อ ต้องหาว่าอยากให้คนอ่านได้อะไร นอกจากนั้นยังต้องความสำคัญต่อเสียงของผู้คนที่เป็นเจ้าของเรื่องเล่าที่นำมาเล่าต่อมากแค่ไหน และจะออกแบบงานอย่างไรไม่ให้เสียงของคนทำงานออกแบบมีบทบาทเหนือเรื่องราวของพวกเขา

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในหัวข้อเรื่อง “Data เพื่อประชาธิปไตยที่เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม” 

โดยณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ กล่าวว่าการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส แนะนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนจะช่วยแก้ไขปัญหาระบบประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยวได้ ผ่าน 3 โจทย์ที่สำคัญคือ ข้อมูลกับงบประมาณ ข้อมูลกับนักการเมือง และข้อมูลกับตัวบทกฎหมาย

โดยในประเด็นเรื่องข้อมูลกับงบประมาณ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ยกตัวอย่างระบบ KONEPS (Korea ON-line E-Procurement System) ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นระบบที่คล้ายเว็บ Shopee Lazada ภาครัฐ ให้หน่วยงานภาครัฐในเกาหลีซื้อของสำเร็จรูปได้เลย โดยไม่ต้องใช้กระบวนการในการยกร่าง TOR ประกาศจัดซื้อจัดจ้างแบบของไทยซึ่งใช้เวลายาวนาน ใช้งบประมาณสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท และเอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่ง 64% ของการจัดซื้อจัดจ้างในเกาหลี เป็นการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ซื้อได้ผ่านระบบ KONEPS โดยมี Public Procurement Service ทำหน้าที่เป็นแผนกจัดซื้อของรัฐบาล คอยคัดคุณภาพของสินค้าที่มีผู้นำมาเสนอขาย รวมถึงตรวจสอบราคาว่ามีความเหมาะสม ถ้าทุกอย่างผ่านเกณฑ์ก็เอาของขึ้นเว็บไซต์ เมื่อหน่วยงานภาครัฐต้องการซื้อของ ก็มากดช้อปปิ้งได้เลย

นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องข้อมูลกับนักการเมือง เขายังยกตัวอย่างเว็บไซต์ https://wevis.info/parliamentwatch/ ซึ่งจัดทำโดย WeVis ที่เปิดข้อมูลว่า สส.ที่เราเลือกไปเข้าประชุมสภามากน้อยขนาดไหน ลงมติโหวตอะไร หรือการประชุมในกรรมาธิการมีการแอบปิดประตูคุยกันหรือไม่ และในประเด็นเรื่องข้อมูลกับตัวบทกฎหมายนั้น ทั้งยังเล่าถึงโปรเจกต์ที่ทำงานร่วมกับอาสาสมัคร ในการเปิดเผยข้อมูลบันทึกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ผ่านเว็บไซต์ห้องสมุดรัฐสภา (https://cons60-library.parliament.go.th/)

นอกจากสปีกเกอร์ทั้ง 5 ช่วงแล้ว ภายในงานยังมีช่วง Panel Session วงสนทนาอีก 3 วงที่ชวนผู้ทำงานในภาคส่วนต่างๆ ร่วมแลกเปลี่ยน ถกเถียง เปิดประเด็นไปพร้อมกับผู้เข้าร่วมงาน ทั้งการใช้ข้อมูลในการออกแบบนโยบาย, การใช้ข้อมูลในการออกแบบการสื่อสาร และการใช้ข้อมูลในการส่งเสริมประชาธิปไตย รวมไปถึงช่วง Lightning Talk Session ที่เปิดโอกาสให้คนทำงานดาต้าในสายงานต่างๆ มาร่วมนำเสนอทั้งผลงานที่น่าสนใจ ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งไอเดียในการทำงานในอนาคต

ภายในงานยังมี Data Universe Installation การจัดแสดงข้อมูลของผู้ที่มาร่วมงานว่าเป็นคนทำงานดาต้าสายไหน มีทักษะอะไรบ้าง เพื่อทำให้เห็นถึงจักรวาลของคนทำงานดาต้าในประเทศไทย โดยผู้ที่มาร่วมงานสามารถใช้ข้อมูลและช่องทางติดต่อที่ได้รับ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบทสนทนา ติดต่อเชื่อมโยงหากันต่อไปได้ รวมไปถึงการจัดแสดงผลงาน Project Showcase กว่า 40 ชิ้น เช่น แผนที่สถานพยาบาลทำแท้งปลอดภัยในไทย โดยกลุ่มทำทาง, Geospatial Indicator Library SYNC SPACE ตำบลที่ประสบภัยน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก โดย GISTDA, Landometer’s CityStory โดย Landometer ฯลฯ ที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานได้เห็นไอเดียใหม่ๆ ในการใช้งานข้อมูลเพื่อสื่อสารหรือขับเคลื่อนประเด็นสังคม และยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงเจตจำนงในการร่วมงานกับเจ้าของผลงานเหล่านั้นอีกด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม ทั้งการแสดงความสนใจและแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมพัฒนาโปรเจ็กต์นั้นๆ ร่วมด้วย ซึ่งสิ่งนี้คือเป้าหมายหลักของการจัดงาน Data Con 2024 ที่อยากจะสร้างพื้นที่ให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลหรือสนใจงานข้อมูลในด้านต่างๆ และอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้มีโอกาสมาพบเจอ รู้จัก และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เกิดเป็น “ชุมชนคนดาต้า” และนำไปสู่โอกาสในการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนสังคมในอนาคต