จากปรากฏการณ์ช็อกวงการสื่อไทย การพาเหรดประกาศ Layoff พนักงานครั้งใหญ่ของเหล่าทีวีช่องดัง ทำให้คนวงการสื่อต้องอยู่ภาวะ ‘หวาดหวั่น’ เพราะไม่รู้ว่าจะสามารถประกอบอาชีพที่ตัวเองรักไปได้อีกนานแค่ไหน…
Tellscore ได้พาทุกท่านย้อนกลับไปสำรวจไทม์ไลน์วิกฤตวงการสื่อตลอด 10 ปีที่ผ่านมา (คลิกที่นี่) พร้อมระดมสมองกับทีมงานเพื่อแสวงหา ‘ทางออก’ ที่เหมาะสมกับวงการสื่อมวลชนไทยในขณะนี้ จนในที่สุดเราก็ค้นพบ ‘ประตูบานใหม่’ ที่สามารถนำทางคนวงการสื่อให้ออกจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้
มาทดลองแง้มประตูบานนี้ เพื่อสำรวจทางข้างหน้าที่มีไปพร้อม ๆ กัน
Wrap – up สถานการณ์: สื่อไทย สื่อเทศ วิกฤตแค่ไหน?
ผลพวงจาก Digital Disruption สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ สำหรับฝั่งประเทศไทย ปี 2567 เห็นจะเป็นหนึ่งในปีที่หนักที่สุด เพราะตั้งแต่หัวปีจรดท้ายปี มีผู้ผลิตสื่อประกาศเลิกจ้างพนักงานแล้วราว ๆ 3 – 4 เจ้า ไม่ว่าจะเป็น MONO, ช่อง 3, VOICE TV ที่ประกาศปิดสถานี ท่ามกลางกระแสข่าวส่งท้ายปีว่ายังมีช่องใหญ่อีกหนึ่งช่องจ่อปลดพนักงานด้วยเช่นกัน

Cr. Reuters
ฟากสื่อต่างประเทศเองก็ร้อนแรงไม่แพ้ฝั่งไทย เพราะกลางปีนี้มี 2 ยักษ์ใหญ่ประกาศ Layoff ในเวลาใกล้เคียงกัน เริ่มต้นด้วย BBC ที่ขาดทุนต่อเนื่องจากปี 2566 ราว 12,000 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 500 ชีวิต ภายในเดือนมีนาคม 2569 เพื่อปรับสภาพคล่องของบริษัท ซึ่งความจริงแล้วมีการปรับลดจำนวนพนักงานลดเกือบ 10% ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (PressGazette, 2024)
ไม่เพียง BBC เท่านั้น สำนักข่าวชื่อก้องโลกอย่าง CNN ก็กำลังตกที่นั่งลำบากไม่แพ้กัน เพราะปัจจุบันผู้บริโภคหันไปเสพคอนเทนต์ออนไลน์กันมากขึ้น CNN จึงมีแผนจะลุยบริการสมัครสมาชิกดิจิทัลอย่างเต็มตัว พร้อมปรับลดพนักงานลงกว่า 100 คน เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร (AP, 2024)
การรุกตลาดของคอนเทนต์ออนไลน์: ผู้ร้ายในข่าววิกฤตสื่อ
สิ่งที่น่าสนใจในวิกฤตสื่อระลอกนี้ คือ ธุรกิจสื่อทั้งในและนอกประเทศต่างก็ให้เหตุผลเดียวกัน ว่าปรากฏการณ์ Digital Disruption เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องปรับโครงสร้างองค์กร
แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้ตัดสินจากความรู้สึก เพราะมีตัวเลขทางสถิติยืนยันชัดเจน ดังข้อมูลจาก Neilsen ประเทศไทย ผู้จัดทำผลสำรวจเรตติ้งโทรทัศน์ทั่วโลก ที่เผยว่าแม้ในปี 2567 คนไทยเกินกว่า 80% จะยังคงดูคอนเทนต์ทีวี แต่การรับชมของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้รับชมผ่านเครื่องรับโทรทัศน์ แต่ดูผ่านแอปพลิเคชัน หรือชม Live ผ่าน Social Media แทน

Cr. Brand Buffet
นอกจากการรับชมคอนเทนต์ทีวี ก็ยังมีอีกหลายคอนเทนต์ที่คนนิยมเสพ ไม่ว่าจะเป็นเพลง กีฬา คลิปทำอาหาร หรือแม้แต่คลิปจรรโลงจิตใจ ซึ่งทุกอย่างล้วนจัดเป็นคอนเทนต์ออนไลน์ (Brand Buffet, 2024)
เมื่อคนเริ่มกดรีโมตดูทีวีกันน้อยลง หันไปเสพ Streaming ซึ่งสามารถเลือกรายการ ละคร หรือภาพยนตร์ที่ตัวเองชื่นชอบได้ นิสัยการเสพข่าวประจำวันจึงเปลี่ยนไป จากที่ต้องดูรายการข่าวตอนเช้า หรือข่าวยาวก่อนละคร ปัจจุบันแค่ไถฟีดอ่านโพสต์ Facebook หรือชมคลิป TikTok ที่ตัดมาแค่สั้น ๆ ก็รู้สถานการณ์ประจำวันได้ ‘คอนเทนต์ออนไลน์’ จึงกลายเป็นผู้ร้ายในวิกฤตสื่อครั้งนี้
การปรับตัวของสื่อ (บางส่วน) กับการรับบทครีเอเตอร์มือใหม่
เมื่อผู้ชมดูเหมือนจะย้ายแพลตฟอร์มไป โดยไม่มีวี่แววว่าจะย้ายกลับมา สื่อมวลชนบางเจ้าจึงมีพลวัตที่ค่อนข้างน่าสนใจ นั่นคือการปรับตัวไปตามสถานการณ์
กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนมาก คือเมื่อครั้งที่ช่องทีวีจำนวนมาก ยอมปรับตัวตามผู้ชม นำคลิปละครเก่าไปโพสต์ลง YouTube หวังเพิ่มรายได้จาก Engagement และฐานคนดูจากโลกออนไลน์ แต่ก็ยังมิวายถูกมือดีนำไปตัดเป็นคลิปสั้นโพสต์ลง TikTok แย่งฐานคนดูไป แม้จะตาม report เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์มากแค่ไหน คอนเทนต์ที่ถูกชิงไปก็ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายช่องทีวีต้องผันตัวเป็นครีเอเตอร์ ตัดคลิปสั้น ใส่ Copy ดึงดูดผู้ชม แล้วโพสต์ลง TikTok ในนามของช่องแทน

Cr. รอบโลก
Journalist ไม่ (น่า) เท่ากับ Creator ไหม? : ข้อสงสัยที่มาพร้อมการปรับตัว
ทันทีที่มีสื่อเริ่มผันตัวมาเป็นครีเอเตอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็หนีไม่พ้นที่คนวงการสื่อ (บางส่วน) รวมถึงผู้ชมเองจะหันมาตั้งคำถามกับการปรับตัวเช่นนี้ ว่า “เส้นแบ่งของนักข่าวและครีเอเตอร์จะอยู่ตรงไหน….ในเมื่อก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 อาชีพ ดูเหมือนทางที่ไม่น่าจะมาบรรจบกันได้”
เพื่อไขข้อข้องใจ เรามาดูนิยามของทั้ง 2 คำกัน…
Oxford Dictionary นิยาม Journalist หรือ นักข่าวว่า “บุคคลที่มาหน้าที่รวบรวมและเขียนข่าวลงในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ หรือเว็บไซต์ข่าวออนไลน์” สอดคล้องกับเว็บไซต์ Indeed ที่ขยายความลงไปว่า “เป้าหมายของนักข่าวคือการให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ผ่านการสัมภาษณ์ การค้นคว้า การตรวจสอบข้อเท็จจริง ฯลฯ”
ส่วนคำว่า Content Creator นั้น เราขอให้คำนิยามอย่างเรียบง่ายว่า “ผู้ที่ทำคอนเทนต์ลงบน Social Media เป็นประจำ” ซึ่งสอดคล้องกับ Sprout Social ที่ขยายความลงไปว่า “ผู้ผลิตเนื้อหาเพื่อความบันเทิง ความรู้ หรือเนื้อหาอื่น ๆ ที่ดึงดูดใจ โดยมักจะนำเสนอมุมมองที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์”
เมื่อพิจารณาจากนิยาม ทั้ง Journalist และ Content Creator ต่างก็รับบทเป็น ‘นักสื่อสาร’ หากแต่สารที่พวกเขาจะสื่อจะทำหน้าที่แตกต่างกัน สารของ Journalist จะทำหน้าที่เป็นข่าว (รายงานสถานการณ์ เล่าขานความจริง) ต่างกับสารของ Content Creator ที่สร้างขึ้นเพื่อดึงดูดความสนใจ แม้ว่าจะมันจะพูดถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดหรือไม่ หรือเจือปนไปด้วยความคิดเห็นหรือไม่ก็ตาม
แม้อาจ ‘ขัดใจ’ ในช่วงแรก: แต่ #Collaboration คือทางรอด!
อันที่จริงนอกจากคำนิยามที่ต่างกันแล้ว อาชีพสื่อมวลชนยังมีกรอบที่ยากจะก้าวข้ามเรียกว่า ‘จรรยาบรรณของนักสื่อสารมวลชน’ ซึ่งตามหลักสากลแล้วจะมีด้วยกัน 23 ข้อ (SSRU)
แน่นอนว่าเราไม่สามารถบรรยายทั้ง 23 ข้อลงในบทความนี้ได้ แต่พอสรุปได้ว่ามีจรรยาบรรณบางข้อที่อาจทำให้รู้สึก ‘สุ่มเสี่ยง’ หาก Journalist เลือกจะข้ามฝั่งไปเป็นครีเอเตอร์ในทันที อาทิ การนำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดแก่ผู้รับสาร หรือการขายข่าวเพื่อแสวงหาผลกำไรและความพึงพอใจส่วนตัว
แต่รู้หรือไม่? ในภาวะที่การนำเสนอแบบคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ถือครองพื้นที่สื่อส่วนใหญ่ Collaboration หรือการร่วมมือกันระหว่าง 2 วงการ คือ ‘ทางออกเดียวที่เป็นไปได้ตอนนี้’ แม้ในระยะแรก ๆ อาจสร้างความหวั่นใจ แต่ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อ พี่น้องสื่อมวลชนสามารถค่อย ๆ ปรับตัวโดยไม่ต้องกลัวเรื่องผิดจรรยาบรรณได้ ด้วย 3 เคล็ดลับ:

ปรับแนวคิดใหม่ เป็นครีเอเตอร์ก็เล่าข่าวได้ และเล่าได้สนุกขึ้นด้วย
ขอบเขตของการเป็นครีเอเตอร์นั้นกว้างขวาง คุณจะทำคอนเทนต์เรื่องอะไรตราบเท่าที่จะมีคนสนใจ ดังเส้นทางของคุณคณากร คงประทีป เจ้าของรางวัล Best News Creator บนเวที Thailand Influencer Awards 2024 ที่ตัดสินใจใช้ความถนัดในฐานะ ‘คนข่าว’ เล่าข่าวเศรษฐกิจและสังคมบน TikTok จนมีฐานคนดู แต่เพราะความเป็นนักข่าวที่ยังยึดข้อเท็จจริงเป็นใหญ่ คุณคณากรจึงตรวจสอบแหล่งข่าวอย่างแน่ชัดทุกครั้งก่อนทำคลิป และเปลี่ยนภาษาการนำเสนอ จากภาษาทางการตามแบบฉบับผู้ประกาศ เป็นภาษาง่าย ๆ ฟังสบาย แต่ยังคงความสุภาพ น่าเชื่อถือ เรียกได้ว่าคุณคณากร คือตัวอย่างของการนำข้อดีของทั้งฝั่ง Journalist และ Creator มาปรับใช้ จนประสบความสำเร็จอย่างเด่นชัดที่สุดคนหนึ่ง

Cr. MPRnews
ผู้ชมอยากฟังความคิดเห็นของ ‘คนข่าว’ มากขึ้น
ในอดีตเรามักจะเคยได้รับการพร่ำสอนว่า สื่อมวลชนที่ดีไม่ควรแสดงความคิดเห็นของตัวเองลงไป แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป ผู้ชมเริ่มแสวงหา Authenticity หรือความจริงแท้ ไม่เว้นแม้กระทั่งในวงการข่าวเอง ดังจะเห็นได้จากความนิยมของรายการข่าวสไตล์ ‘คุยข่าว’ ที่นักข่าวจะวางตัวแบบ ‘พิธีกร’ ซึ่งสามารถแสดงความคิดเห็นส่วนตัวได้บ้าง มากกว่าจะเป็น ‘ผู้ประกาศข่าว’ ตามการรายงานข่าวแบบเดิม
อย่างไรก็ดี รายการเหล่านี้ก็ยังคงตกเป็นเป้าถกเถียงเรื่องจรรยาบรรณสื่อ เนื่องจากส่วนมากยังคงออกอากาศในช่องทางหลักอยู่ ดังนั้น หากคนข่าวอยากแสดงความคิดเห็นของตัวเองบ้าง การทำในฐานะครีเอเตอร์ ก็ดูจะเป็นช่องทางที่เหมาะสมมากที่สุด
มองครีเอเตอร์เป็นหนทางใหม่ในการเข้าถึงประชาชน
พันธกิจหนึ่งของสื่อ คือการรายงานข้อเท็จจริงและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตให้กับผู้ชม ลองคิดดูว่าพันธกิจเหล่านี้จะสมบูรณ์ได้อย่างไร หากเส้นทางระหว่างคุณและประชาชนห่างไกลออกจากกันไปเรื่อย ๆ
ดังนั้น หากคุณยังคงต้องการจะปรับตัวเข้าหามวลชน ลองปรับมุมมองว่า การทำคอนเทนต์สไตล์ครีเอเตอร์ คือหนึ่งในหนทางที่จะทำให้พวกเขาได้รับข่าวสารที่เป็นประโยชน์อีกครั้ง หาใช่บ่อนทำลาย และทำให้วงการข่าวสูญสิ้นไป
ประตูสู่การออกจากวิกฤต เริ่มฉายลำแสงรำไร
ขอเพียงคนข่าวและนักสร้างสรรค์หันมาจับมือกัน วงการสื่อก็จะคงอยู่ต่อไป
References:
เปิดความสำเร็จ “Best News Creator” รางวัลอินฟลูสายข่าว
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย: https://tja.or.th/view/activities/radio-tja/1452804
Content creators: Who they are, what they do and how they partner with brands
Sprout Social: https://sproutsocial.com/insights/content-creator/
What Is a Journalist? (Definition, Requirements, and Salary)
Indeed: https://ca.indeed.com/career-advice/finding-a-job/what-does-a-journalist-do