อาหารหนึ่งจานมันมีเรื่องเล่ามากกว่านั้น ด้วย ‘Food Storytelling’
เชฟโทมัส วรพล อิทธิคเณศร อาหารหนึ่งจานมันมีเรื่องเล่ามากกว่านั้น ด้วย ‘Food Storytelling’
Introduction
- ในยุคที่คอนเทนต์ในโลกโซเชียลจะมีคุณภาพต้องเสริมสร้างด้วย Storytelling ที่น่าสนใจให้กับคอนเทนต์ด้วย
- สิ่งสำคัญของการทำอาหาร ที่มีมากกว่าแค่รสชาติที่อร่อย
- นำเสนอวัฒนธรรมการทำอาหารผสมผสานศิลปะการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย
ในยุคที่คอนเทนต์ในโลกโซเชียลจะมีคุณภาพต้องเสริมสร้างด้วย Storytelling ที่น่าสนใจให้กับคอนเทนต์ด้วย ซึ่งนั้นรวมไปถึงการทำอาหารเล่าเรื่องผ่านเมนูอย่างไรให้น่าสนใจ และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารมื้อนั้นได้อย่างสมบูรณ์มากที่ วันนี้ 9Conversations จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจผ่านมุมมองการทำอาหาร ‘เชฟโทมัสครับ วรพล อิทธิคเณศร’ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเพจ ‘ตำรับข้างวัง’
เชฟโทมัสครับ วรพล อิทธิคเณศร
อาชีพเชฟเป็นบทบาทที่เราหลายคนน่าจะคุ้นเคย แต่เชฟได้เผยกับเราว่า ณ ตอนนี้ไม่ค่อยได้เข้าครัวเยอะเท่าเดิม เพราะอีกบทบาทของเชฟนั้นเป็น ‘ดร.วรพล’ ที่สอนทำอาหารในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และสอนเกี่ยวกับเรื่องการบริหารธุรกิจ เน้นหนักไปในเรื่องการทำอาหารอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในธุรกิจอาหารให้หลายๆ แบรนด์ และยังรวมถึงเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอีกหลายๆ คน เชฟได้ใช้ศิลปะเข้าช่วยในการสื่อสารและถ่ายทอดออกไปให้คนสามารถเข้าใจในตนเอง และเข้าใจคนอื่นมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้คนมีความสุขในการทำงานมากขึ้นด้วย
จุดเริ่มต้นของการรักการทำอาหาร
การทำอาหารของเชฟนั้นเริ่มมาจากความผูกผัน ซึ่งวัฒนธรรมไทยของเรามีส่วนเกี่ยวข้องหล่อหลอมให้เชฟเป็นคนชอบการทำอาหาร เพราะในวัฒนธรรมการทำอาหารทั้งไทย หรือต่างชาตินั้น อาหารจะสอนให้เราได้รู้จักการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ
เชฟนั้นเป็นคนจังหวัดจันทบุรี และเติบโตที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งทั้ง 2 จังหวัด เป็นจังหวัดที่มีอิทธิพลทางด้านการทำอาหารไทยมากๆ เพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบทั้งผลไม้และน้ำตาล เชฟจึงมีความผูกผันและซึมซับเทคนิควิธีการทำอาหารจากความทรงจำในวัยเด็ก ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่ดี และเชฟยังบอกกับเราว่าเพราะว่าการทำอาหารให้ใครทานก็ตาม เราจะต้องรัก
“รักที่จะทำให้เขาทาน ไม่ได้รักที่จะทำเอง”
บางครั้งการทำอาหารถ้าเรารู้สึกอร่อยเพียงคนเดียวคงไม่มีใครประทับใจในฝีมือเรา แต่หากเราทำให้คนอื่นทานแล้วเขารู้สึกประทับใจ มันสามารถเกิดเป็นความผูกพันระหว่างกัน เชฟจึงทำให้คาแรกเตอร์การทำอาหารนั้นเป็นอาหารที่คิดถึงคนอื่นและใส่ใจคนอื่นมากกว่า พร้อมใส่ความรักลงในอาหาร ผสมผสานกับวัฒนธรรมหรือความสวยงามของธรรมชาติที่จะทำให้อาหารหนึ่งจานมันมีเรื่องเล่ามากกว่านั้น กลายเป็น Food Storytelling ที่สามารถเล่าเรื่องอาหารหนึ่งจานให้คนประทับใจมากกว่าเดิม
จากการที่เชฟนั้นโตมากับสิ่งที่หลายๆ คนอาจยังไม่เคยเห็น นั้นคือการรับรู้ถึงเรื่องราวของอาหารทั้งหมด ว่าวัตถุดิบตัวนี้มาจากไหน ปลูกขึ้นมายังไง มีประโยชน์อย่างไร จนกระทั่งขั้นตอนสุดท้าย มาเสิร์ ฟอยู่บนจานอาหาร ซึ่งมีความสำคัญในวงการธุรกิจอาหารอย่างมาก เพราะมันคือ Life Experience ที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์การใช้ชีวิตมากกว่าแค่การทำอาหารขึ้นมาหนึ่งจาน เชฟที่ทำอาหารเปรียบเหมือนนักแสดงที่นำมาวัตถุดิบเล่นแสดงให้คนรู้จัก และรู้สึกร่วมไปกับกับอาหารจากนั้นได้มากขึ้น
ในอนาคตสิ่งที่เชฟอยากจะทำคือ เมื่อเราเข้าสู่โลกโซเชียลมากขึ้น จึงอยากให้โลกโซเชียลนั้นสร้างคุณค่าให้กับการดำเนินชีวิตของคน เพราะฉะนั้นเชฟจึงอยากนำเสนออาหารให้รูปแบบ Animation ที่เป็นของตัวเอง ผนวกกับเทคโนโลยีปัจจุบันที่เริ่มมี Metaverse ที่ช่วยทำให้รูปแบบการสื่อสารต่างจากเดิม ที่สามารถมีการตอบโต้ได้ เป็นการสื่อสารกันทั้งสองฝ่าย โดยเป็น Animation ที่มีเชฟโทมัสเล่าเรื่องเกี่ยวกับอาหารไทย ส่งต่อให้คนทุกเพศ ทุกวัยได้เห็น และทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกสนุกจนอยากทำอาหารตามไปด้วย
ที่มาของฝีมือ
ในวัยเด็กเชฟถูกฝึกให้ทำอาหารจากในวัด ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมที่ดีของคนไทยสมัยก่อน เชฟจึงซึมซับมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเข้าช่วงวัยโตขึ้นมา เชฟได้เข้าศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์ จึงได้เรียนเรื่องวัฒนธรรมไทยมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ซึมซับเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งเดิมทีคนไทยเรามีวิถีการดำเนินชีวิตที่ผูกพันกับคำว่า ‘คหกรรม’ คือ เรื่องของการครองเรือนพื้นฐาน ทั้งงานใบตอง ดอกไม้ แกะสลัก ทำอาหาร ตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานชีวิต ทำให้เชฟได้รู้ว่าตนนั้นชื่นชอบและมีความสุขที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเหล้านี้ จึงตัดสินใจเลือกเรียนแขนงวิชาคหกรรมโดยตรง จากนั้นเชฟได้รับทุนเพื่อไปศึกษาต่อที่ออสเตรเลีย ด้านการจัดดอกไม้ ซึ่งเป็นอีกโลกหนึ่งที่ต่างจากวัฒนธรรมไทย จึงต้องผสมผสานให้เข้ากับวัฒนธรรมสากล จึงทำให้เชฟเล็งเห็นว่า
“บนโลกใบนี้มีการศึกษา 2 แบบ คือ วิทยาศาสตร์ กับ ศิลปะ”
‘ศิลปะ’ คือ ความสวยงาม ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องจริง มันอาจเป็นโลกของจินตนาการ แต่สำหรับ ‘วิทยาศาสตร์’ นั้นคือ ความจริง ความจริงที่เราต้องยอมรับ บางครั้งอาจจะไม่สวย แต่ถ้าเราสามารนำทั้ง 2 อย่างมาผสมกันได้ มันจะกลายเป็นความจริงที่มันสวยงามที่มากขึ้น เพราะเราได้ใช้ความจริงมาสร้าความสวยงามให้เกิดขึ้น ซึ่งเชฟนั้นต้องการถ่ายทอดความเป็นไทยเข้าไปในอาหารด้วย จึงเป็นที่มาของการศึกษาทางด้านอาหาร และด้านดอกไม้ไปด้วยกัน เพื่อให้สิ่งที่อยู่บนโต๊ะอาหาร ที่ต้องมีทั้งอาหารตา อาหารใจ และเมื่อรับประทานเข้าไปต้องอร่อย มันเหมือน ‘จิตวิทยา’ ที่ควบคุมการประทานอาหารทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ที่เมื่อใครรับประทานไปแล้วนั้นจะรู้สึกอย่างไร
“กลายเป็นว่าการทำอาหารหนึ่งโต๊ะ เราจะไม่พูดว่าหนึ่งจาน หนึ่งโต๊ะที่เรากินเข้าไปมันกลายเป็นผลงานทางศิลปะที่เราต้องดูดดื่มเข้าไปในได้เยอะที่สุด”
จุดเปลี่ยนของชีวิตเชฟโทมัส
ตอนเด็กหลายคนคงเข้าใจคำว่า ‘เชฟ’ ในมุมเดียวว่าคือ นักทำอาหาร และนั้นคือสิ่งที่เชฟโทมัสในวัยเด็กก็คิดเช่นกัน เชฟโทมัสเป็นเชฟที่ผ่านการประกวดมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเข้าสู่การประกวดเชฟมืออาชีพระดับชาติมาแล้ว
“เราอยากจะชนะเพื่อทำอาหารให้อร่อย หรือเราอยากเอาชนะคนกิน”
ประโยคที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนของเชฟ เมื่อครั้งที่เชฟเรียนจบปริญญาเอก เชฟได้ตระหนักอย่างหนึ่งว่า แท้จริงแล้วการทำอาหารให้อร่อย มันไม่ใช่แค่เรื่องของรสชาติอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของความรู้สึกด้วย เชฟบอกกับเราว่าหากเชฟเป็นแค่คนหนึ่งที่ทำอาหารอร่อย สักวันคนอาจจะลืมเขาได้ เพราะรสชาตินั้นได้หายไปแล้วแต่ถ้าหากเขาเป็นเชฟที่สอนคนอื่นเพื่อทำอาหารให้อร่อย เขาจะกลายเป็นที่นึกถึงว่าเชฟเป็นคนสอนเขาให้ทำอาหารให้อร่อย
“ลองคิดดูว่ามันน่าภาคภูมิใจกว่า หากเราทำอาหารหนึ่งจาน คนกินแล้วบอกอร่อยจังเลย ใช่ เพราะนั้นคือหน้าที่ของเชฟ ที่ต้องทำอาหารอร่อย แต่ถ้าเกิดมีคนบอกว่าเชฟค่ะ สูตรของเชฟ หนูเอามาทำขาย มันอร่อยมาก มีแต่คนชม คนกินอร่อย แล้วกลับมาซื้ออีก มันกลายเป็นความสุข”
มันมากกว่าการทำอาหารให้อร่อย เพราะมันเป็นการส่งต่อความสุข และสิ่งนี้ทำให้เชฟนั้นรู้สึกประสบความสำเร็จในการทำอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่าการทำอาหาร เพราะมันไม่ใช่แค่ลงมือทำ แต่ต้องสอนให้คนอื่นทำอาหารให้ได้ จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต ที่เชฟได้เป็นผู้ให้ ไม่ใช่ผู้รับอย่างเดียว
‘ตำรับข้างวัง’ เพจที่มีอิทธิพลต่อคนทำอาหาร
ที่มาของชื่อเพจนั้น จากเมื่อก่อนคนชอบเรียกเชฟว่า ‘เชฟข้างวัง’ เพราะเชฟสอนอยู่ข้างวิทยาลัยไกลกังวน สอนผ่านดาวเทียม อยู่ข้างรั้ววัง จึงนำชื่อมาตั้งเป็นเพจว่า ‘ตำรับข้างวัง’ สาเหตุนั้นมาจากความต้องการที่จะเขียนสูตรอาหารเอาไว้เพื่อกันลืม เดิมที่ต้องหิ้วสูตรอาหารไปสอนหลายที่ จึงตัดสินใจเขียนสูตรอาหารและโพสต์ไว้ในเพจ และเพื่อให้ลูกศิษย์ของเชฟนั้นสามารถเข้าไปดูสูตรอาหารเพื่อทำตามได้ เชฟเผยว่าไม่กลัวคนขโมยสูตรอาหาร เพราะว่าฝีมือการทำอาหารของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน
“สูตรอาหารที่ดีที่สุดคือ สูตรที่สามารถต่อยอดได้”
สำหรับใครที่สามารถเอาสูตรนี้ไปใช้แล้วต่อยอดได้ แสดงว่าสูตรนั้นประสบความสำเร็จ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวคนเขียนสูตรอาจจะตายไป แต่จะเหลือสูตรอาหารเป็นสัญลักษณ์แทนคนๆ นั้นตลอดไป เชฟจึงตัดสินใจทำเพจขึ้นมา อีกทั้งเชฟโทมัสนั้นต้องการนำเสนอการยกระดับของอาหารบ้านๆ ให้ก้าวไปอีกขั้น อย่าผัดกะเพรา หรือข้าวมันไก่ ทำอย่างไรให้มีระดับต่างจากเดิม ซึ่งทำให้เพจได้รับความนิยมขึ้นอย่างรวดเร็ว และอีกไวรัลสำหรับการยกระดับ ‘น้ำปลาพริก’ ที่กระจายไปในโลกของทวิตเตอร์ และกลายเป็น #ปฏิวัติวงการน้ำปลาพริกไทย เพียงแค่เชฟนั้นเพิ่มการแกะสลักกระเทียม แกะสลักพริก แล้วใส่น้ำปลาลงไป ลองเปลี่ยนวิธีกินใหม่ๆ ก็สามารถยกระดับอาหารได้แล้ว
แต่เมื่อเวลาผ่านไปข้อมูลสูตรต่างๆ ในเพจที่สร้างไว้ก็หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ เชฟจึงเปลี่ยนวิธีเป็นการเปิดกลุ่มสาธารณะขึ้นสำหรับคนที่ติดตาม เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นได้ และทำการทดลองสูตรอาหารด้วยวิธีการไลฟ์สดอาทิตย์ละครั้ง จากตอนแรกมีผู้ชมประมาณหลักร้อย จนมีผู้ชมมากถึงหลักพัน ซึ่งครั้งแรกที่ถึงหลายพัน จึงหันมาเปลี่ยนวิธีมาการไลฟ์สดบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเชฟในการดึงให้ผู้ชมอยู่รับชมจนจบไลฟ์สดที่มีระยะเวลานานถึง 2 ชั่วโมง เชฟจึงใช้วิธีการเหมือนเป็นเพื่อนที่ค่อยชวนคุยให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานการณ์จริงแบบตัวต่อตัวจึงดึงดูดให้คนรู้สึกร่วมอยู่ตลอด และทุกครั้งหลังจบการไลฟ์ไป ทุกคนในกลุ่มมักจะส่งการบ้านเป็นรูปภาพอาหารที่ได้ทำไปพร้อมกับเชฟ ทำให้เห็นว่าทุกคนมีส่วนร่วมกับเราจริงๆ และหลายครั้งที่เกิดเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวได้ หรือกลายเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนอื่นด้วยอีกด้วย เป็นการส่งต่อความสุข ผ่านความรักในการทำอาหารของเชฟ
ศิลปะในการสื่อสาร
“สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการสื่อสาร คือ พลังงานในการสื่อสารต้องทั่วถึงและเข้าถึง”
ทุกครั้งที่เชฟทำการสื่อสารผ่านไลฟ์ออกไปนั้นจะใส่ลูกเล่น พร้อมพลังงานเข้าไปส่งไปยังผู้ชม กลายเป็นสีสันที่ทำให้ผู้ชมสนุกไปด้วย เชฟมักจะคิดเสมอว่า “ทุกการสื่อสารมันจะมีโอกาสได้แค่ครั้งเดียว ถ้าคุณไม่ทำครั้งนั้นให้ดีที่สุด คุณอาจจะไม่ได้พูดกับเขาอีกต่อไป” เชฟจึงพยายามสื่อสารให้ทั่วถึง เข้าถึงอารมณ์อย่างที่สุด และการพูดอย่างไรให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย อย่างเรื่องวิทยาศาสตร์ในการทำอาหาร จะพูดอย่างไรให้คนเข้าใจ เชฟจึงพยายามใส่ความตลกเข้าไป
เช่นการยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เมื่อแป้งเวลาตีไปเยอะๆ แป้งจะเวียนหัว เพราะมันมีโปรตีนอยู่ตัวหนึ่ง ชื่อกลูเตน พอกลูเตนเขาเหนื่อย เขาจะไม่อยากทำงาน ขี้เกียจ และจะทำตัวเหนียวๆ หดๆ พอเสร็จแล้ว หากกินเข้าไปจะเหนียวไม่อร่อย ต้องให้เขาพักผ่อนอย่างสบายใจที่สุด เมื่อไหร่ที่คลายตัวเนื้อสัมผัสจะนุ่มนวล ทำให้คนเข้าใจได้มากขึ้น เพราะคนชอบให้การสื่อสารมันง่ายแบบนี้ เชฟจะพยายามเปลี่ยนทุกคำให้มันง่ายที่สุด
ประสบการณ์ในชีวิตมีอิทธิพลกับเรามากที่สุด
เมื่อครั้งที่เชฟได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ได้อยู่กับคนในหลายๆ ชาติจากทั่วทุกมุมโลก เชฟได้เห็นความไม่เท่าเทียมกันของคน ซึ่งทุกคนจากตอนนั้นจึงมีอิทธิพลและมีแรงบันดาลใจให้เชฟ ตัดสินใจก้าวมาทำหลายๆ สิ่ง เพื่อที่จะบอกทุกคนว่าโลกมีความเท่าเทียมอยู่ และมีความสวยงามที่ซ่อนอยู่บนโลกนี้ อยู่ที่เราจะเลือกมองมุมมองไหนที่จะมีความสำคัญกับชีวิต ในเลิกสนใจในสิ่งที่ไม่มีความสำคับกับเรา เมื่อไหร่ที่เรามีพลังในการคิดบวก มีประจุพลังบวกในตัวเราที่เยอะมาก มันจะดึงดูดให้คนที่มีพลังบวกเหมือนกันเข้ามาหาเรามากขึ้น มันจะทำให้เรารู้สึกมีความสุขกับการอยู่ตรงนั้น
และอีกข้อสำคัญที่ทำให้เชฟมีความคิดเช่นนี้ สืบเนื่องจากในวัยเด็กเชฟเป็นเด็กที่ยากจน ไม่มีเงินเรียน ไม่มีเงินกินข้าว ต้องไปอาศัยอยู่กับวัด และอาศัยทุนการศึกษาจากคนในสังคม แต่นั้นกลับไม่ได้ทำให้เชฟรู้สึกน้อยใจเลย เชฟได้คิดว่าทุนการศึกษาตรงนั้นคือเงินที่สังคมให้มา เมื่อวันนี้ที่เชฟมีความรู้ และประสบความสำเร็จ จึงต้องการมามอบคืนให้กับทุกคนในสังคม และครูเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีอิทธิพลในชีวิตของเชฟ เพราะครูจะสอนทุกอย่างให้เชฟ
“ทำไมครูต้องเสียเงินให้ผมไปประกวดหลายหมื่น?” หนึ่งคำถามที่เชฟได้ถามกับครูของเขา
ครูได้ตอบกลับเชฟว่า “ถ้าวันหนึ่งที่เธอประสบความสำเร็จแล้ว เธอเก่งแล้ว ให้เธอทำเหมือนครู ให้นำเงินไปช่วยเหลือคนอื่นต่อ หรือนำความรู้ไปสอนกับคนอื่นต่อ”
ดังนั้น ครูที่ได้สั่งสอนเชฟโทมัส และประสบการณ์ทั้งหมดตลอดที่ผ่านมาจึงมีอิทธิพลนต่อเชฟ และเชฟโทมัสเองได้เลือกที่จะไม่หยิบเอาปมด้อยขึ้นมาให้เด่น พร้อมทั้งให้ข้อคิดว่ากับเราว่า
“เมื่อเรารู้จักการแบ่งปัน เชื่อว่าสังคมจะแบ่งปันกลับมา พอทุกอย่างมันหลอมรวมกันแล้ว มันจะกลายเป็นตัวเราที่ไม่ได้ดูด้อยค่าไปกว่าสังคม”
สิ้นสุดบทสัมภาษณ์จากผู้ชายที่เป็นทั้งเชฟ ทั้งอาจารย์ ทั้งดร. และคนที่เป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลอะไร และเขาคนนั้นคือ ‘เชฟโทมัสครับ วรพล อิทธิคเณศร’ แฝงข้อคิดที่มากมาย พลังบวกที่ส่งผ่านมาถึงเราตลอดการสัมภาษณ์ ทำให้ยิ้มตามโดยไม่รู้ตัว สำหรับใครที่อยากติดตามเชฟโทมัส ทั้งสูตรอาหารและพลังงานบวกจากเชฟ
สามารถติดตามได้ที่ Facebook Page : ตำรับข้างวัง Truly Thai Recipes