เชื่อเหลือเกินว่านี่คงไม่ใช่ครั้งแรกที่คุณได้ยินคำว่า ‘ธุรกิจเครือข่าย’ โดยเฉพาะในยุคหลัง ๆ ที่ธุรกิจประเภทนี้ถูกมองว่ามีส่วนคล้ายกับสิ่งผิดกฎหมายอย่าง ‘แชร์ลูกโซ่’ และมักทำให้คนที่ไม่ได้ตั้งใจทำผิด พลอยติดร่างแหถูกดำเนินคดีไปด้วย ในบทความนี้ Tellscore จึงจะพาคุณไปทำความรู้จักกับเบื้องลึกของธุรกิจเครือข่าย พร้อมเคลียร์ความเข้าใจ ว่ากฎหมายไทยขีด ‘เส้นแบ่ง’ ระหว่างการทำธุรกิจกับการทำผิดเอาไว้อย่างไร
ต้นตระกูลของธุรกิจเครือข่าย มีชื่อว่า ‘ขายตรง’
เว็บไซต์ Zendesk นิยามการขายตรงเอาไว้ว่า “เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างผู้ขายกับปลายทาง โดยไม่ผ่านคนกลางหรือตัวแทนจำหน่าย และไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ขาย” ซึ่งถ้าลองพิจารณาดูดี ๆ การขายลักษณะนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังที่เว็บไซต์ Direct Selling News เล่าถึงประวัติศาสตร์ของธุรกิจขายตรง ว่ามีให้เห็นครั้งแรกตั้งแต่ราว ๆ 3 ศตวรรษก่อน
![](https://9conversations.co/wp-content/uploads/2024/11/James-Robinson-Graves-.jpg)
Cr. B&H
ในช่วงศตวรรษที่ 18 อารยธรรมต่าง ๆ กำลังพัฒนา เหล่านักล่าสัตว์ก็เริ่มตั้งรกรากอยู่ตามเมืองท่า และผันตัวไปเป็นพ่อค้าเร่ ออกเดินทางไปทั่วชนบทเพื่อเอาเนื้อสัตว์และพืชพรรณไปแลกเปลี่ยนกับคนต่างถิ่น กระทั่งราวปี ค.ศ. 1855 บาทหลวงนามว่า James Robinson Graves เริ่มฝึกอบรมลูกศิษย์ชายหนุ่มให้ออกขายสินค้าพร้อมเผยแพร่คัมภีร์ไบเบิล โดยเคาะประตูเรียกคนตามบ้าน แล้วโมเดลธุรกิจขายตรงแบบที่เราคุ้นเคยก็เริ่มต้นขึ้นจากตรงนั้น
![](https://9conversations.co/wp-content/uploads/2024/11/Madam-CJ-Walker-Manufacturing-Company--1024x714.jpg)
Cr. CLICK ORLANDO
ต่อมาในปี ค.ศ. 1905 นาง CJ Walker ก่อตั้งบริษัทของตัวเองชื่อ Madam CJ Walker Manufacturing Company ซึ่งขายผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เธอค้นพบว่า วิธีการขายที่ได้ผลที่สุด คือให้ลูกค้าได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์จริง จึงเป็นบริษัทแรกที่เดินทางไปตามบ้านของลูกค้า เพื่อสาธิตการใช้งานสินค้า จนกระทั่งประสบความสำเร็จ และต่อยอดไปถึงการรับสมัครแม่บ้านผู้ใช้แรงงานมาเป็นตัวแทนขายของแบรนด์ Madam CJ Walker เพื่อรับค่าคอมมิชชัน
วิธีการขายและจ่ายค่าตอบแทนอันเรียบง่ายนี้ยังคงถูกนำมาใช้จวบจนถึงปัจจุบัน ผ่านชื่อเรียกใหม่อย่างเป็นทางการว่า Single-level Marketing (SLM) หรือการตลาดขายตรงแบบชั้นเดียว ลองนึกถึงการขายที่เราเห็นกันจนคุ้นตา อย่าง “มิสทีนมาแล้วค่ะ” หรือ การปรากฏตัวพร้อมแคตตาล็อกของสาวกิฟฟารีน
‘ขายตรง’ มีกี่แบบ
เดิมทีโมเดลของธุรกิจขายตรงไม่ได้ซับซ้อน ผู้ผลิตเพียงจ่ายสินค้าให้กับตัวแทนจำหน่าย ให้ตัวแทนนำสินค้าเหล่านั้นไปกระจายให้ถึงมือผู้บริโภค แล้วรับส่วนแบ่งจากการขายสินค้า แต่ในช่วงทศวรรษ 1900 – 1930 ธุรกิจขายตรงก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จุดประกายให้ Carl Rehnborg ผู้ก่อตั้ง Nutrilite มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจให้ไปไกล จึงคิดค้นโมเดลขายตรงแบบ Multi-level Marketing (MLM) ขึ้นมา และเป็นบันไดให้ Jay Van Andel กับ Richard DeVos อดีตตัวแทนขายของ Nutrilite นำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้ จนให้กำเนิด Amway แบรนด์ขายตรงเลื่องชื่อที่สุดของโลกในปี ค.ศ. 1959 (Amway)
![](https://9conversations.co/wp-content/uploads/2024/11/AmWay.jpg)
Cr. Amway
เมื่อนำบันทึกการเดินทางนี้ มาผนวกรวมกับข้อมูลในเอกสารชุด “ระบบขายตรงในประเทศไทย” โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เราสามารถแบ่งธุรกิจขายตรงออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. Single-level Marketing (SLM)
ธุรกิจขายตรงชั้นเดียว: บริษัทผู้ผลิตสินค้าจะมอบหมายให้พนักงานของตัวเอง เฟ้นหาผู้แทนจำหน่ายเพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มรายได้ โดยพนักงานจะได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน สวัสดิการ และส่วนแบ่งจากใบสั่งซื้อของผู้แทนจำหน่าย ในขณะที่ตัวผู้แทนจำหน่ายเองจะได้ส่วนแบ่งจากยอดขายเพียงอย่างเดียว
2.Multi-level Marketing (MLM)
ธุรกิจขายตรงหลายชั้น: บริษัทผู้ผลิตสินค้าจะให้ผู้แทนจำหน่ายอิสระทุกคน ซื้อสินค้าจากโรงงานในเรตเดียวกัน หากต้องการซื้อในราคาพิเศษ ก็จะต้องสมัครเป็นสมาชิกกับบริษัท หรือจะผันตัวไปเป็นผู้แทนจำหน่ายอิสระ แล้วหาเครือข่ายในสายของตัวเองเพิ่มก็ได้ โดยจะมีรายได้จากการขายสินค้าในราคาปลีกให้ลูกค้าของตัวเอง ควบคู่ไปกับส่วนแบ่งจากยอดขายของคนในทีม
MLM ธุรกิจเครือข่าย – เส้นทางเถ้าแก่ที่ใคร ๆ ก็เป็นได้
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่สุดระหว่าง SLM และ MLM คือ ‘แหล่งกำเนิดของรายได้’ เพราะต้นทางของ SLM ยังมีรายได้หลักเป็นเงินเดือน ในขณะที่ทุกคนในระบบ MLM ต้องหวังพึ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย
อย่างไรก็ดี แม้ดูผิวเผิน MLM จะไม่สามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้ เพราะไม่มีรายได้ประจำ แต่หากมองว่าเป็นการริเริ่มธุรกิจ โดยไม่ต้องจัดหาปัจจัยการผลิตเอง ธุรกิจนี้ก็ดูเป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจ และนั่นทำให้ผลประกอบการของธุรกิจอย่าง Amway พุ่งสูงขึ้นถึง 4 พันกว่าล้านในช่วงปี ค.ศ. 1996 และแม้จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ. 1997 ธุรกิจก็ยังคงจัดว่าเติบโตตลอดเวลา (ระบบขายตรงในประเทศไทย)
![](https://9conversations.co/wp-content/uploads/2024/11/ธุรกิจเครือข่าย-2023-819x1024.jpeg)
Cr. ทันข่าว TODAY
กระทั่งในปัจจุบัน ธุรกิจขายตรงในไทยหลายเจ้าก็ยังคงทำกำไร โดยในปี 2023 Amway ประเทศไทยมีรายได้ 16,848 ล้านบาท คิดเป็นกำไร 938 ล้านบาท ขณะที่กิฟฟารีนมีรายได้ 4,123 ล้านบาท กำไร 258 ล้านบาท และ ZHULIAN มีรายได้ 1,975 ล้านบาท กำไร 143 ล้านบาท (ทันข่าว TODAY, 2023)
MLM Vs. แชร์ลูกโซ่
ไม่ว่าที่ผ่านมาธุรกิจเครือข่ายหรือ MLM จะโหมโฆษณาเชื้อเชิญ หรือโน้มน้าวให้คนอยากเป็นเจ้าของกิจการมากแค่ไหน แต่หากรายได้หลักของพวกเขามาจากการขายสินค้า เราต้องเข้าใจก่อนว่า…นั่นไม่ใช่ความผิด
แต่สิ่งที่ทำให้ธุรกิจเครือข่ายกลายเป็น ‘จำเลย’ ในสายตาของคนไทย คือช่องว่างของวิธีการหาเครือข่ายที่เอื้อให้ ‘แชร์ลูกโซ่’ เข้ามาสมอ้างในสมการนี้
![](https://9conversations.co/wp-content/uploads/2024/11/MLM-Model.jpg)
Cr. RAMSEY
แม้รายหลักของธุรกิจเครือข่าย (ตามทฤษฎี) จะเป็นส่วนแบ่งจากยอดขาย แต่เราทุกคนย่อมรู้ดี ว่าการสมัครเป็นดาวน์ไลน์ หรือผู้แทนจำหน่าย จำเป็นต้องมี ‘ค่าสมัคร’ ไม่มากก็น้อย ธุรกิจผิดกฎหมายอย่างแชร์ลูกโซ่ จึงอาศัยช่องว่างนี้ ด้วยการใช้วาทศิลป์กระตุ้นให้ผู้แทนจำหน่ายทุ่มเงินลงทุน เพราะมองเห็นผลตอบแทนเกินจริง ก่อนกดดันให้ต้องหาสมาชิกใหม่มาเพิ่มในเครือข่าย เพื่อหวังจะได้ส่วนแบ่งจากค่าสมัครของเพื่อนสมาชิก มาชดเชยต้นทุนที่ตัวเองเสียไป ทันทีที่ต้นสายวงแชร์ระดมทุนได้ ก็จะปิดกิจการแล้วหลบหนีไป
ในประเทศไทย คดีเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วนับสิบครั้ง โดยคดีที่โด่งดังที่สุด คือ คดีเครือข่ายแชร์ยูฟัน เมื่อปี ค.ศ. 2015 – 2016 สร้างความเสียหายเกิน 300 ล้าน และคดีเครือข่ายของซินแสโชกุน เมื่อปี ค.ศ. 2017 มูลค่าความเสียหาย 51 ล้านบาท สร้างประวัติศาสตร์โทษจำคุก 4,000 กว่าปี (สำนักข่าวอิศรา, 2024)
จะรู้ได้อย่างไร ว่าเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่
ผลการวิจัยของ DSI เรื่องนวัตกรรมป้องกันแชร์ลูกโซ่ออนไลน์ ปี 2023 พบว่า ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ที่มาแจ้งความ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของจำนวนผู้เสียหายทั้งหมดเท่านั้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่กังวลเรื่องชื่อเสียง กลัวมีปัญหากับคนที่บ้าน ฯลฯ และมีผู้เสียหายกว่า 65% ที่ถูกชักชวนให้ลงทุนผ่านการพูดคุยในช่องทางออนไลน์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เราควรเฝ้าระวังการชักชวนผ่าน Social Media และตระหนักถึงการเชื่อมั่นในธุรกิจที่ไม่รู้แหล่งผลิตที่แน่นอน
ทั้งนี้ เพื่อให้คุณระมัดระวังไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ เอกสารเรื่อง “รู้เท่าทัน การเงินนอกระบบ” ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (กรุงเทพธุรกิจ, 2024) และเอกสารแผ่นฟับแชร์ลูกโซ่ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้กำหนดเส้นแบ่งระหว่างธุรกิจเครือข่ายกับแชร์ลูกโซ่เอาไว้ ซึ่งสรุปง่าย ๆ ดังนี้
- ธุรกิจเครือข่าย ต้องจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
- นอกจากจดทะเบียนแล้ว ยังต้องมีสินค้าจริง มีโปรแกรมฝึกอบรมการขายสินค้าจริง และมุ่งเน้นหารายได้จากการขายสินค้าเท่านั้น
- เมื่อสมาชิกยกเลิกสัญญา บริษัทต้องมีมาตรการในการรับซื้อคืนสินค้า
- ต้องมีการรับประกันคุณภาพสินค้า
- หากไม่มีคุณสมบัติตาม 4 ข้อข้างต้น กอปรกับมีการชักจูงให้เห็นผลตอบแทน เมื่อชักชวนคนมาเป็นสมาชิก โดยไม่สนใจเรื่องการขายสินค้า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นั่นคือแชร์ลูกโซ่
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมิจฉาชีพมีกลวิธีลวงให้หลงเชื่ออย่างแยบยลมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณจึงควรพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ที่สำคัญ…อย่าเห็นแก่ผลตอบแทนมหัศจรรย์ในระยะสั้น เพราะไม่มีธุรกิจใดในโลกที่จะสำเร็จได้ โดยไม่ต้องลงทุนทั้งเงิน เวลา และความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กัน
References:
What exactly is direct selling? | A direct sales explainer
ZenDesk: https://www.zendesk.com/th/blog/direct-selling/
ระบบขายตรงในประเทศไทย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: http://cmuir.cmu.ac.th/bitstream/6653943832/21628/7/econ0942sl_ch4.pdf
แผ่นพับแชร์ลูกโซ่
DSI: https://www.dsi.go.th/Files/Images/
The Biggest History of Direct Selling
Direct Selling News: https://www.directsellingnews.com/2014/05/30/the-big-history-of-direct-selling/
Direct Selling Timeline
Direct Selling Journal: https://www.dsa.org/direct-selling-journal/direct-selling-timeline
Single Level Marketing (SLM) vs. Multi Level Marketing (MLM): Understanding the Difference