นอร์ท-บ้านกูเอง ครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์ไอเดียที่แปลกใหม่ จนทุกคนต้องหยุดดู

ครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์ไอเดียที่แปลกใหม่ จนทุกคนต้องหยุดดู

Introduction

  • บ้านกูเอง นี่คือบ้านใคร
  • บทบาทที่เปลี่ยนไปหลังเป็น CEO
  • ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าที่บ้าน ?

นอท สัณหณัฐ ทิราชีพ เจ้าของบริษัท ทิราชีพ ทำทุกอย่างเกี่ยวกับ “บ้านกูเอง” มีทุกช่องทางทั้ง Facebook, YouTube และ TikTok ที่คอยมอบความสนุกผ่านคอนเทนต์เล่าเรื่องด้วยภาพนิ่ง และวิดีโอด้วยสไตล์ที่แปลกใหม่ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำช่องที่ใครเลื่อนฟีดผ่านก็ต้องหยุดมอง ด้วยความครีเอท ผลงานที่มอบความสุข และเสียงหัวเราะให้กับโลกโซเชียล ทำให้คว้ารางวัล Thailand Influencer Awards 2019 

วันนี้เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของคุณ นอท รวมถึงเพจ “บ้านกูเอง” ที่วันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากวันแรกที่ก่อตั้ง จากการทำงานคนเดียว จนวันนี้คุณนอท ต้องสวมหมวกเป็นหัวเรือที่ต้องพาลูกบ้านที่อยู่ใน “บ้านกูเอง” ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคง

บ้านกูเอง นี่คือบ้านใคร ?

“บ้านกูเอง ตอนแรกเป็นบ้านของคุณแม่ที่เป็นชื่อของแม่ แต่เงินที่เอามาซื้อส่วนใหญ่เป็นของพี่สาวแม่ แบบนี้น่าจะต้องเป็นบ้านของพี่สาวแม่หรือเปล่านะ ไม่แน่ใจ ทุกวันนี้ย้ายมาบ้านหลังที่ 3 แล้ว เอาไว้ใช้ทำออฟฟิศโดยเฉพาะ” 

แต่จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของบ้านตัวเองเกิดมาจากการที่คุณนอทอยากที่จะขิงบ้านข้างๆ จึงตั้งชื่อนี้ขึ้นเอง เรียกได้ว่าแค่เริ่มต้นก็สนุกแล้ว

คิดคอนเทนต์อย่างไรให้โดนใจคนดู เราเห็น Insight อะไร ?

Insight ในการทำผลงานเกิดมาจากการตั้งคำถามมากกว่า เช่น ทำไมทำแบบนี้สังคมถึงบอกว่าได้ ทำไมทำแบบนี้สังคมถึงบอกว่าไม่ได้ เราก็เลยอยากจะทำทุกอย่างที่เราทำได้แม้ว่าสังคมจะบอกว่าทำไม่ได้ แม้แต่ตัวแพลตฟอร์มเองก็มีข้อห้ามหลายอย่าง เราก็พยายามจะท้าทายแพลตฟอร์ม ไปจนถึงจุดที่เราตั้งข้อสันนิษฐานว่า หรือเรื่องแบบนี้มันทำได้

หรืออย่างเช่นการทำคอนเทนต์แบบภาพ Nude ที่มันต้องเห็นเรือนร่างคน เราจะทำเป็นคลิปได้มั้ย เรื่องบนเตียงเราพูดได้มั้ย หรือคอนเทนต์ Photo Album ที่ส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องที่เว่อร์เกินจริง แต่ว่าความเว่อร์นั้นมันเกิดมาจากคำถามว่า ทำไมเราทำแบบนี้ไม่ได้ ทำไมทำแบบนี้สังคมถึงมองว่าผิด

ไม่ใช่คนตลกขนาดนั้น แล้วทำคอนเทนต์ตลกขนาดนี้ได้อย่างไร ?

“ผมคิดว่า อารมณ์ ความรู้สึก ทุกอย่างๆ มันเชื่อมโยงกับหลักเหตุผล และประสบการณ์ของมนุษย์​ ไม่ว่าจะเป็น ตลก เศร้า ดีใจ เสียใจ ทุกอย่างมันเริ่มมาจากความรู้สึกของประสบการณ์แต่ละคน แต่ว่ามันจะมีแกนตรงกลางที่ทุกคนมีประสบการณ์ร่วมกัน มันไม่เกี่ยวว่าผมจะเป็นคนตลก หรือคนใจดี ไม่เกี่ยวว่าเราจะเป็นคนนิสัยยังไง แต่ผู้สร้างผลงานต้องมีเหตุผลในการทำงาน 

เช่น สมมติว่ามันมีเรื่องสายชาร์จดูดเงิน ถ้าเราคิดอย่างไม่เป็นหลักเหตุผล (วงเล็บว่าเป็นเหตุผลของ insight คนที่มีความทรงจำเหมือนกันของประเทศนี้) เราอาจจะไปคิดถึงประมาณว่า คนที่ผลิตสาย เค้าอาจเป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ใส่ชุดเสื้อกราวน์ โกงคนด้วยการเปิดร้านขายสายชาร์จ ให้คนมาซื้อไปใช้ ฟังดูแล้วมันอาจจะมีเหตุผล 

แต่เหตุผลนี้ insight มันไม่ได้เลย สิ่งที่คนจะงงก็คือ เราไม่รู้ว่านักวิทยาศาตร์เป็นยังไงในชีวิตประจำวันของเรา อันนี้มันหลุด common sense ของคนไปแล้ว การขายสายชาร์จปลอม (สมมติว่าเส้นละ 5,000 บาท) มัน make sense มั้ยที่นักวิทยาศาสตร์ เปิดร้านขายสายชาร์จ 5,000 บาท เพื่อไปโกงเงินคนตาสีตาสาที่เราก็ยังไม่รู้เลยว่าเค้ามีเงินในบัญชีเท่าไหร่ แบบนี้มันไม่ make sense ที่จะตลกมันต้องกลับไปดู insight คนไทยว่า มันต้อง make sense กับอะไรในการที่เราจะเอาสายชาร์จ 5,000 บาท ไปโกงเงินคนอื่นได้จริงๆ 

ถ้า make sense สำหรับคนไทยผมว่ามันน่าจะเกี่ยวกับเรื่อง ตกทอง เอาทองปลอมไปแลกทองจริงอะไรแบบนั้น ถ้าเราอยากทำคอนเทนต์เกี่ยวกับสายชาร์จดูดเงินจริง ก็แปลว่าเราจะขายสายชาร์จให้คนทั่วไปไม่ได้ เราต้องเลือกเหยื่อก่อน เช่น เห็นคนใส่เสื้อ Balenciaga เราก็ทักเค้าว่าพี่ทำสายชาร์จตก มันก็จะเริ่มเข้า pattern ที่คนไทยถนัดละ ความตลกมันจะตามมาจากประสบการณ์ของคนๆ นั้นเอง ถ้ามันมีจุดที่มันไม่ make sense เลย ไม่ว่าคุณจะสื่อสารอารมณ์อะไรออกไปมันก็ไม่ได้เลย ถ้าทุกอย่างมันไม่ make sense ต่อให้เราจะเว่อร์ จะเสียดสีอะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่างมันต้อง based on ประสบการณ์ร่วมกันของคนไทย อันนี้คือแนวคิด”

ซึ่งจะเห็นได้ว่าคอนเทนต์ของคุณนอท ไม่ได้คิดขึ้นมาง่ายๆ ลอยๆ แต่มันผ่านกระบวนการกลั่นกรองทางความคิดเพื่อให้คอนเทนต์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุด และทำให้คนรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับคอนเทนต์ได้อย่างง่ายดาย

นิสัยจริงๆ ของคุณนอท คิดว่าตัวเองเป็นคนยังไง ?

“ผมว่าไม่สามารถตอบได้ว่าตัวเองเป็นคนยังไง เพราะคนอื่นในสังคมนั้นๆ จะเป็นคนบอกเรา” 

“ตอนทำงานผมทำตัวแบบนึง อยู่กับเพื่อนทำตัวแบบนึง อยู่กับพ่อแม่ผมไม่พูดคำหยาบก็จะเป็นคนอีกแบบนึง ผมอยู่สังคมไหน ผมก็จะเป็นไปตามสังคมนั้น ทุกคนก็เป็นแบบนี้ ไม่มีใครเป็นแบบนั้นอยู่แบบเดียว อยู่ที่ว่าเค้าอยู่สังคมไหน เราไม่สามารถตอบตัวเองได้ จะตอบได้ก็ต่อเมื่อเราไปอยู่ในสังคมนั้นๆ เป็นคนยังไงเนี่ยอยู่ที่ว่าเราคุยอยู่กับใครมากกว่า”

คอนเทนต์ไปสุดมากแบบนี้ ร่วมงานกับแบรนด์ยากหรือเปล่า ?

“ผมคิดว่าเราต้องมั่นใจกับตัวเองก่อนว่า เราทำอะไรไปเพื่ออะไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากจะไปสุด แต่คอนเทนต์ที่เราทำกับลูกค้าเราทำเพื่ออะไร ถ้าเราทำเพื่อเอารายได้ เราก็ต้องดีลกับลูกค้าให้ได้โดยที่ไม่มองว่าลูกค้าว่าเป็นตัวร้าย ต้องคิดว่าคอนเทนต์เราจะช่วยเค้าขายของได้บ้างหรือเปล่า 

“ถ้าคุณจะไปสุดกราฟ แล้วลูกค้าไม่เอา ก็ต้องกลับมาถามตัวเองว่าเราต้องการอะไร ถ้าเราต้องการยอด ก็ต้องตัด (ลูกค้า) ออก แล้วก็ไปทำของตัวเอง อยากทำอะไรทำเลย ถ้า point ของการทำคอนเทนต์นี้ คือการทำเงิน คีย์หลักก็คือลูกค้า เราเสนอได้ แต่ถ้าลูกค้าไม่เอาชิ้นนี้ เค้าไม่เอาก็คือไม่เอา”

“เราเอาเงินเค้า เราจะเห็นแก่ตัวไปทำไม อยากได้เงินเค้าเป็นหมื่นเป็นแสน แต่เราพยายามที่จะขายของให้เค้าภายใน 10-15 วินาทีสุดท้าย อันนี้คือกำลังเห็นแก่ตัว ซึ่งผมมองว่า การทำงานกับแบรนด์ไม่มีปัญหาสำหรับผม เรื่องที่เราจะเถียงกับลูกค้าบ่อยๆ น่าจะเป็นเรื่องของการที่เราพยายามส่งเสริมให้คอนเทนต์เค้ามันดีกับสิ่งที่เค้าต้องการอยู่แล้ว อย่างเช่น ลูกค้าอยากเอาแคปชันยาวๆ ทั้งหมด ไปใส่ในรูป แบบนี้มันส่งผลเสียแก่เค้า เราต้องทำให้เค้าโอเคมากกว่า.

บทบาทที่เปลี่ยนไป ตอนนี้เป็น CEO คิดว่าเรื่องอะไรยากที่สุด

“น่าจะเป็นเรื่องการนั่งทบทวน ว่าเราจะสื่อสารกับพนักงานยังไง สมมติว่าเค้าทำอะไรที่เรารู้สึกไม่พอใจ แต่เราต้องมานั่งทบทวนหลายๆ รอบว่า มันจริงหรือเปล่า หรือมันเป็นแค่อีโก้ของเรา พอเราอยู่ในจุดที่เราพอจะสามารถโขกสับคนอื่นได้ สามารถตัดอนาคตเค้าได้ เราต้องมานั่งชั่งใจจริงๆ ว่า เค้าผิดจริงหรือเปล่า หรือเรานี่แหละที่อีโก้มากไป ความผิดเค้ามันขนาดนั้นมั้ย แล้วตัวเราสมบูรณ์แบบขนาดนั้นมั้ย ต้องมาชั่งน้ำหนักกับตัวเองมากๆ ว่า เราจะสื่อสารกับคนอื่นยังไงดี”

ยกตัวอย่างเช่น ตากล้องมาสาย แว่บแรกเราก็ต้องไม่พอใจ แต่ก็ต้องมานั่งคิดว่า อย่างเราเองเราอยู่ที่บ้าน เราไม่มีวันสายอยู่แล้ว แต่คนนั้นเดินทางมาชั่วโมงนึง เราควรเห็นใจเค้ามั้ย หรือเค้าควรมีสปิริตว่าไม่ควรมาสายต่อให้บ้านไกล ต้องมาชั่งน้ำหนักว่า แล้วเวลาที่เค้าออกไปถ่ายงานข้างนอกที่ใกล้บ้านตากล้อง เค้าเคยสายมั้ย เค้าก็ไม่เคยนะ แล้วเราออกไปถ่ายงานข้างนอกเราสายมั้ย อุ้ย เราเคยสายนะ แล้วแบบนี้เราจะว่าเค้าเต็มปากได้ยังไงในเมื่อเราก็ยังทำไม่ได้เลย แล้วอย่างเราเนี่ยออกไปถ่ายงานข้างนอกนานๆ ที แต่ตากล้องเค้าต้องมาทุกวัน”

“ถ้ามากาง data กันจริงๆ แล้ว ใน 1 ปี เค้าอาจจะสายแค่ 10% ก็ได้ ตอนที่เค้าไม่ได้ทำอะไรผิดเราก็ไม่รู้สึกอะไร ตอนทำถูกอยู่แล้วเราไม่ได้ให้ค่าให้อะไรเค้า แต่ในครั้งที่เค้าพลาด เรากลับจับจ้องความผิดเค้า แบบนี้มัน make sense มั้ย เราต้องมานั่งทบทวนตัวเองก่อนจะพูดออกไป มันต่างจากตอนทำงานคนเดียว เราอยากทำอะไรก็ทำเลย มันไม่มีความผิดทั้งนั้นเพราะมันคือตัวเราเอง”

การเป็น CEO ทำให้เราโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นไหม

“เคยมานั่งคิดว่า นิสัยแบบไหนคือนิสัยของผู้ใหญ่ ความเป็นผู้ใหญ่มันวัดกันที่อะไร แล้วได้คำตอบว่า การที่คนเราจะกลายเป็นผู้ใหญ่ได้ คือเมื่อเราเรียกพนักงานเสิร์ฟว่าน้อง มันแค่นั้นเลย ก็คือเมื่อเราแก่ขึ้น แต่เรื่องของวุฒิภาวะ ความเป็นผู้ใหญ่ของใครมันไม่เหมือนกันเลย บางคนอาจจะบอกว่าเมื่อเรามีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ แต่อย่างเด็กที่เกิดมาแล้วก็มีหนี้เลย ไม่มีโอกาสได้เรียน ต้องทำงานตั้งแต่เด็ก อันนี้คือเป็นผู้ใหญ่แล้วหรือเปล่า การเป็นผู้ใหญ่สำหรับผมมันตอบได้แค่ 2 ข้อก็คือ เรียกพนักงานเสิร์ฟว่าน้อง กับไปเข้าร้านเหล้าแล้วกล้ายื่นบัตรประชาชนตัวเอง มันแค่นั้น”

“ถ้าถามว่าผมโตเป็นผู้ใหญ่เพราะเป็น CEO มั้ย ผมก็ไม่แน่ใจ แต่คิดว่ามันน่าจะ develop ความคิดอะไรเราบางอย่าง แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าความคิดที่ develop ออกมา มันทำให้เราเป็นผู้ใหญ่หรือเปล่า”

นอกจากทำเพจ ทำ YouTube อยากทำอะไรเพิ่มจากนี้อีกไหม

“ปลายปีนี้อยากทำ Exhibition โชว์ผลงานศิลปะของตัวเอง ผมเรียนสายศิลปะมา passion มันอยู่ที่ตรงนี้มากกว่า ผมยังใหม่ในวงการนี้มาก คิดว่าคงไม่ทำอะไรให้แตกต่าง แต่มันเป็นเวลาที่เราควรศึกษาจากคนที่ประสบความสำเร็จแล้วมากกว่า อันนี้ใช้ได้ทุกอาชีพนะแม้แต่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์” 

“คนเราจะพยายามพูดว่า มันต้องแตกต่าง ต้องเป็นตัวเองมากๆ ถึงจะประสบความสำเร็จ อันนี้คือไม่จริงเลย คนที่จะประสบความสำเร็จได้ คุณต้องเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จมาก่อน สมมติคุณจะเปิดร้านอาหาร แถวนั้นมีแต่ร้านข้าวมันไก่ ไม่มีใครขายสเต็กเลย ถ้างั้นเราจะแตกต่าง เรามาขายสเต็กกัน แต่เราเคยศึกษาตลาดมั้ยว่าทำไมถึงไม่มีคนขาย ยังไม่มีคนขายเพราะไม่มีคู่แข่ง หรือไม่มีคนขายเพราะเจ๊งหมดแล้ว หรือเพราะไม่มีใครต้องการหรือเปล่า เราต้องศึกษาจากคนที่ประสบความสำเร็จมาแล้วก่อน แล้วค่อยต่อยอด”

ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าที่บ้าน ?

“ผมไม่เห็นด้วยเลย รู้สึกว่าบ้านแย่ๆ มีเยอะมาก พ่อแม่ที่เลวร้าย พ่อแม่ที่ไม่ได้มีความพร้อมในการให้ลูกเติบโตมา หรือพ่อแม่ที่โยนภาระให้ลูก หรือพ่อแม่ที่เข้มงวดเกินไป เอาแต่ความคิดตัวเอง คิดว่าลูกเป็นหุ่นยนต์ที่ต้องทำตามทุกอย่าง หรือพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูกเลย ครอบครัวที่เละเทะแล้วแย่ มีมากมายก่ายกอง” 

“คำว่า ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าที่บ้าน มันคือไม่จริงเลย” 

“ในแง่มุมของการทำงาน ผมไม่เห็นด้วยเลยกับการทำงานแบบครอบครัว ผมไม่เห็นด้วยที่พนักงานทั้งหมดต้องมารักบริษัท ถ้าเค้ารักบริษัทผม เอาบริษัทเป็นที่ตั้งแล้วยอมตัวเองลำบาก ผมคิดว่าเค้าเป็นคนโง่ ผมไม่ต้องการคนที่ทำเพื่อคนอื่นแล้วทำให้ตัวเองลำบาก ผมเกลียดคนแบบนั้นมาก ผมจะแฟร์ต่อคนอื่น การทำงานในที่นี่ ผมเลือกคนที่ไม่ได้มี passion ต่อองค์กรขนาดนั้น ทุกคนมี passion ของตัวเอง” 

“อย่างบริษัทผม editor คนนึงเค้าชอบดนตรีมาก เค้าอยากเป็นนักดนตรี editor อีกคนนึง เค้าไม่ได้มีความฝันอะไร แต่เค้าอยากมีความสุขในทุกๆ วัน ตากล้องของผมเค้าเป็นนักดนตรีที่มาความฝันอยากดังระดับโลก กราฟิกของผมเปิดแบรนด์เสื้อผ้า อาชีพหลักคือการทำเสื้อผ้าขาย งานที่ทำกับผมเป็นงานเสริม แต่เป็นพนักงานประจำนะ ทุกคนตรงนี้ไม่มีใครที่มี passion ที่ทำให้ บ้านกูเอง เจริญเติบโตจนสุดยอด ไม่มีเลย 

“และผมคิดว่ามันถูกต้องแล้วที่คุณต้องรู้ว่าคุณต้องการอะไร ไม่ต้องมาทำเพื่อเรา ทำเพื่อตัวเองเถอะ” 

“ทุกคนมีความต้องการของตัวเอง ทุกคนไม่จำเป็นต้องมารักผม แต่ทุกคนจำเป็นต้องมีเงินไปกินข้าว จำเป็นต้องมีเงินไป serve ความฝันของตัวเอง ผมมองว่าอันนี้มันจำเป็นมากกว่าการที่เค้าต้องมารักเรา ถ้าเค้าจะมีความรักอะไรต่อองค์กร เค้าควรจะมีความรักในสิทธิมนุษยชนที่เค้าควรจะรู้ว่า ควรปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร ที่ไม่กดทับกัน”

ดูเป็นคนช่างสงสัย ช่างตั้งคำถาม มีคำถามอะไรบ้างที่เรายังไม่ได้คำตอบสักที ?

น่าจะเป็นเรื่อง ตายแล้วไปไหน ถ้าทางโลกคุณวางแผนการเงินได้ ก็คือจบแล้ว ถ้าคุณอยากให้เงินงอกเงยก็ลงทุน ถ้ากลัวเจ็บป่วยไม่มีเงินรักษา ก็ทำประกัน ถ้าอยากสุขภาพดีก็คุมอาหาร คือทางโลกมันมีคำตอบให้หมด แต่คำตอบเดียวที่เรายังหาไม่ได้คือ ตายแล้วไปไหน เราวางแผนอะไรเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายไม่ได้เลย เราจะวางแผนได้ก็ต่อเมื่อเราตายแล้วเท่านั้น

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่เราอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนเกี่ยวกับคุณนอท เจ้าของเพจ “บ้านกูเอง” ที่เบื้องหน้าคอยเสิร์ฟความสนุกผ่านคอนเทนต์ แต่ในเบื้องหลังที่รับหน้าที่เป็นหัวเรือต่างก็มีเรื่องที่ต้องตัดสินใจ รวมถึงแนวคิดที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก