คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ อาชีพในโลกยุคใหม่ที่หลายคนใฝ่ฝัน เพราะเป็นอาชีพที่เกือบทุกอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ และมองว่า ‘คอนเทนต์สนุก ๆ’ เป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์กับลูกค้าทาร์เก็ตที่ได้ผลที่สุด
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพนี้ต้องการ ‘พลัง’ มิใช่น้อย แล้วถ้าชาวอินโทรเวิร์ตผู้ชอบใช้ชีวิตจอย ๆ ตามลำพัง อยากเป็นครีเอเตอร์สุดปัง จะเป็นไปได้ไหมนะ?
แค่ไหน…ถึงเรียกว่า ‘คอนเทนต์ ครีเอเตอร์’
‘คอนเทนต์ ครีเอเตอร์’ กลายเป็นคำที่เราได้ยินกันจนชินหู ไหนจะคำเกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่มาคู่กันอย่าง อินฟลูเอ็นเซอร์, KOL หรือ นักรีวิว จนทำให้หลายคนสับสน ว่าขอบเขตของการเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์จริง ๆ แล้วอยู่ตรงไหน
Cr. cardsetter
Social Sprout เว็บไซต์การตลาดชื่อดัง นิยาม ‘คอนเทนต์ ครีเอเตอร์’ ว่า ผู้ผลิตเนื้อหาเชิงให้ความบันเทิง ให้ความรู้ หรือดึงดูดใจ ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งวิดีโอ รูปภาพ พอดแคสต์ หรืองานเขียน เพื่อเผยแพร่ตามช่องทางดิจิทัล โดยแฟน ๆ จะติดตามมุมมองอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา และรู้สึกเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อพิจารณาจากนิยามนี้ เราจึงสรุปได้ว่า คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ คือ ‘ร่มใหญ่’ ที่โอบอุ้มการสร้างสรรค์ชิ้นงานบนช่องทางดิจิทัลไว้ทุกแขนง จะนักพากย์เสียงใส นักเขียนหัวไว หรือแม้แต่คนชอบไลฟ์รีวิวสินค้า ก็ล้วนเรียกว่าคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ทั้งนั้น
ใครอินโทรเวิร์ต ใครเอ็กซ์โทรเวิร์ต นิยามกันอย่างไร
อินโทรเวิร์ตเป็นคนเงียบ ๆ ไม่สุงสิงกับใคร ในขณะที่เอ็กซ์โทรเวิร์ตเป็นนักสังสรรค์ ชอบสานสัมพันธ์กับคนใหม่ ๆ – นี่คือภาพจำของคำ 2 คำที่เราต่างใช้นิยามคนกันมาช้านาน แล้วคุณเคยสงสัยไหมว่า แนวคิดพวกนี้มาจากไหน?
Carl Jung
Cr. Verywellmind
ความจริงแล้วทั้ง 2 คำนี้ มาจากทฤษฎีบุคลิกภาพ (Personality Theory) ของคาร์ล ยุง (Carl Jung) จิตแพทย์ชาวสวิสที่มีชีวิตในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยคาร์ล ยุง เชื่อว่า ผู้คนสัมผัสประสบการณ์ต่าง ๆ บนโลกผ่าน 4 องค์ประกอบทางจิตวิทยา ได้แก่ ความรู้สึกทางกาย (Sensation), สัญชาตญาณ (Instinct), อารมณ์ (Feeling) และความคิด (Thinking)
คาร์ลได้แตกยอดคำอธิบายเรื่องฟังก์ชันการรับรู้ออกไปในเชิงลึก โดยยึดตาม 4 เสาหลักนี้ และคำว่าอินโทรเวิร์ต (Introvert) กับเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) ก็หนึ่งในฟังก์ชันการรับรู้ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกัน จนภายหลังจึงถูกนำไปใช้นิยามคนกันอย่างแพร่หลาย (Simply Psychology, 2024)
ที่น่าสนใจก็คือ ใจความของ 2 คำนี้ ไม่ใช่การอธิบายว่าคน 2 ประเภทนิสัยต่างกันมากแค่ไหน แต่เป็นการอธิบายว่าคนแต่ละกลุ่ม “ได้รับพลังงานจากอะไร” ต่างหาก
เอ็กซ์โทรเวิร์ต คือกลุ่มคนที่จะได้รับพลังงานจากโลกภายนอก ความสนใจจากสังคม พวกเขาจึงมักเป็นคนเปิดเผย และโต้ตอบกับคนอื่น ๆ ได้ดี ตรงข้ามกับ อินโทรเวิร์ต ที่ได้รับพลังงานจากโลกภายใน พวกเขาจึงสนใจในความคิดของตัวเองเป็นหลัก และหลาย ๆ คนก็มีแนวโน้มจะปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยาก (Britonica, 2024)
ความกังวลของอินโทรเวิร์ตที่อยากทำคอนเทนต์
แม้ขอบเขตของการเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์จะค่อนข้างกว้าง จนหลายท่านอาจไม่เข้าใจว่าความเป็นอินโทรเวิร์ตจะส่งผลต่ออาชีพนักสร้างคอนเทนต์อย่างไร (ในเมื่อนักเขียนที่นั่งสร้างงานอยู่บ้าน ไม่ต้องพูดกับใคร…ก็เรียกตัวเองว่าคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ได้)
แต่งานนักสร้างคอนเทนต์ ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งไปกว่านั้น! งานคอนเทนต์ที่นิยมกันในสมัยนี้ยังต้องเป็นคอนเทนต์สายฮา และเน้นวิดีโอคอนเทนต์เป็นหลัก ยืนยันได้จากสถิติล่าสุดของ Zight ที่พบว่า วิดีโอคอนเทนต์บนโซเชียล มีเดีย ดึงดูดยอดแชร์ได้มากกว่าคอนเทนต์ประเภทอื่น ๆ ถึง 1,200% และ 66% ของนักการตลาดก็ยืนยันว่าคอนเทนต์ตลก เฮฮา ทำให้คนจดจำแบรนด์ได้มากกว่าจริง ๆ (Hubspot, 2023) ด้วยเหตุนี้ อินโทรเวิร์ตบางท่านจึงรู้สึกกังวล ว่าคนไม่ชอบออกจากบ้าน ไม่ชอบสังสรรค์ ไม่อยากพบปะผู้คน จะลุกขึ้นมาสร้างคอนเทนต์ในแบบที่คนสนใจได้ไหม และจะทำได้ดีแค่ไหน?
อินโทรเวิร์ตอยากเป็นสายคอนเทนต์ จะเป็นไปได้ไหม
เราพยายามตั้งต้นจากคำถามสำคัญว่า “การเป็นอินโทรเวิร์ตเกี่ยวข้องกับความสามารถในการสร้างสรรค์มากแค่ไหน?” และ “เมื่อเป็นอินโทรเวิร์ต จะต้องเป็นตลอดไปหรือไม่?”
คำตอบอยู่ในบทความเชิงวิจัยของ เจฟฟ์ ฮูเล็ตต์ นักวิจัยและผู้นำในบริษัทให้คำปรึกษา โดยเจฟฟ์มองว่า ที่จริงแล้วคนเรามีทั้งความเป็นอินโทรเวิร์ตและเอ็กซ์โทรเวิร์ตผสมรวมกันในตัวเองเสมอ จึงไม่แปลกหากคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นอินโทรเวิร์ต จะสร้างสรรค์งานให้เข้าถึงได้ง่าย เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้อื่น และแม้แกนกลางของเราจะมีบุคลิกภาพแบบหนึ่ง แต่เราก็สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ตามจำเป็น ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารที่เป็นอินโทรเวิร์ต เมื่อจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็น หรือมีปฏิสัมพันธ์กับทีมงานในที่ประชุม เขาก็สามารถทำได้อย่างดี แม้ตัวตนข้างในจะยังเป็นอินโทรเวิร์ตอยู่ (The Curiouscity Vine, 2022)
Cr. choosing therapy
นอกจากนี้ 2 นักจิตวิทยาชื่อดังอย่าง มิฮาลี ซิกเซนท์มิฮาลี (Mihaly Csikszentmihalyi) และเกรกอรี่ ไฟสต์ (Gregory Feist) ยังแสดงความเห็นไว้ว่า บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ระดับโลกหลายคนล้วนเป็นคนเก็บตัว สอดคล้องกับงานวิจัยของแมคคินนอน (Mackinnon) ซึ่งศึกษาสถาปนิกที่มีความคิดสร้างสรรค์ พบว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างเหล่านั้นเป็นคนเก็บตัว และ “ไม่ได้มีอารมณ์ร่วมกับการเข้าสังคม” (Innovative and Introverted, 2019)
แม้เราจะยังไม่พบข้อมูลที่ชี้ชัดลงไปว่า การเป็นอินโทรเวิร์ตเกี่ยวข้องกับความสามารถในการสร้างสรรค์มากแค่ไหน แต่สิ่งที่ยืนยันได้จากข้อมูลเหล่านี้ คือ อินโทรเวิร์ต ไม่จำเป็นต้องเก็บตัวตลอดไป และพวกเขาสามารถทำงานสร้างสรรค์ได้
รู้ไหม…คนดังในอดีตหลายคนก็เป็นอินโทรเวิร์ต
ความเห็นของซิกเซนท์มิฮาลีและไฟสต์ไม่ใช่ความกล่าวเลื่อนลอย เพราะผู้มีชื่อเสียงหลายคนก็เคยประกาศตนว่าตัวเองคืออินโทรเวิร์ต ไม่ว่าจะเป็น เจเค. โรวลิ่ง (JK. Rowling) นักประพันธ์ผู้สร้างสรรค์งานท่ามกลางความโดดเดี่ยว จนประสบความสำเร็จระดับโลก มารี คูรี (Marie Curie) นักเคมีผู้มีบุคลิกเงียบรึม แต่กลับค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ด้านกัมมันตภาพรังสี และโรเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Robert Einstein) นักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงที่สุดตลอดกาล เจ้าของประโยค “The monotony and solitude of a quiet life stimulates the creative mind. (ความจำเจและความโดดเดี่ยวของชีวิตที่เงียบสงบ ปลุกความคิดสร้างสรรค์)”
มั่นใจว่าตัวเองเป็นอินโทรเวิร์ต แต่อยากทำคอนเทนต์ ต้องทำอย่างไร
ดังที่เราได้กล่าวไว้ตอนต้น ว่าอินโทรเวิร์ตและเอ็กซ์โทรเวิร์ต ต่างกันที่ ‘แหล่งพลังงาน’
หากคุณมั่นใจว่าตัวเองคืออินโทรเวิร์ต นั่นหมายความว่า พลังงานของคุณมาจากโลกภายใน ดังความตอนหนึ่งที่หนังสือ Quite: The Power of Introverts in a World That Can’t Stop โดยซูซาน เคน (Susan Cain) บรรยายไว้ “….คนเก็บตัวมักเป็นคนที่ชอบปรัชญาหรือจิตวิญญาณมากกว่าจะเป็นคนที่ยึดติดกับวัตถุนิยมหรือแสวงหาความสุข พวกเขาไม่ชอบพูดคุยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกเขามักจะบรรยายตัวเองว่าเป็นคนสร้างสรรค์หรือมีสัญชาตญาณ พวกเขาฝันได้อย่างชัดเจน และมักจะจำความฝันได้ในวันถัดมา…” (COLE SCHAFER, 2023)
Cr. RIPPLE
จงตักตวงพลังงานจากภายในให้ได้ผลมากที่สุด หยุดกลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ และลองใช้จุดแข็งของการเป็นคนเก็บตัว Shavina Y. นักเขียนอิสระ เสนอแนวคิดที่เอาไปปรับใช้ได้ไว้ในบล็อกของตัวเอง สำหรับเธอการเป็นอินโทรเวิร์ตให้ของกำนัลที่มีคุณค่ามหาศาล อาทิ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเป็นผู้เริ่ม และทำทุกสิ่งตามความต้องการอย่างอิสระ ถ้าชาวอินโทรเวิร์ตผสานจุดแข็งเหล่านี้ เข้ากับ ‘ความกล้า’ อีกเล็กน้อย พวกเขาจะกลายเป็นนักสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จได้ เช่น การมองหาเครือข่ายใหม่ ๆ หรือการค่อย ๆ ฝึกพูดหน้ากล้อง (Tips from Sharvi, 2024)
สอดคล้องกับข้อเสนอของเจฟฟ์ ฮูเล็ตต์ ที่มองว่ามนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการปรับตัว และวิธีเอาชนะความกลัวก็มีเพียง “แกล้งทำไปจนกว่าจะทำได้” เพื่อให้ความคุ้นชินและวินัยก่อตัวขึ้นทีละน้อย สุดท้าย เมื่อสิ่งที่พยายามทำสำเร็จลุล่วงไป ร่างกายก็หลั่งสารแห่งความสุขชื่อโดปามีน และทำให้เกิดวงจรแห่งการเรียนรู้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น แม้คุณเป็นอินโทรเวิร์ต ที่อาจไม่คุ้นชินกับงานสร้างสรรค์ (โดยเฉพาะงานคอนเทนต์ ครีเอเตอร์สมัยใหม่ ที่ต้องอาศัย ‘ความกล้า’ และ ‘การปฏิสัมพันธ์’
แต่จงเชื่อมั่น และทำ ทำ ทำ!
แล้วสักวัน…บทบาทของนักสร้างสรรค์ จะสร้างความสุขให้แก่คุณ
ส่งท้าย: จะสร้างงานใหญ่ ต้องใช้พลังเยอะ – ทริคฟื้นฟูพลังงานฉบับอินโทรเวิร์ต
จุดแข็งของอินโทรเวิร์ตคือการชาร์จพลังจากภายใน แต่จุดอ่อนที่เลี่ยงไม่ได้ คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องปฏิสัมพันธ์มากเกินไป จะสูญเสียพลังไปมากพอสมควร โดยเฉพาะครีเอเตอร์สายอินโทรเวิร์ต ที่จะต้องพูดคุยกับผู้ชมผ่านไลฟ์ อัดคลิปใหม่ หรือพูดคุยกับทีมงานคนอื่นตลอดทั้งวัน
หากคุณเองก็เคยประสบกับความเหนื่อยล้าเช่นนี้ แนะนำให้หาเวลาอยู่กับตัวเองสักพัก หยุดการเชื่อมต่อกับสังคมทุก ๆ ช่องทาง เพื่อทำกิจกรรมที่ตัวคุณเองพึงพอใจ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ชงชา หรือแม้แต่นั่งเฉย ๆ
เพราะโทรศัพท์ที่แบตหมดยังต้องพึ่งอะแดปเตอร์สำหรับชาร์จไฟ อินโทรเวิร์ตที่ใช้พลังไปมากก็ต้องฟื้นฟูตัวเองเช่นกัน
References:
Innovative and Introverted: How Introverts Function in the Creative Workplace
University of South Carolina: https://scholarcommons.sc.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1292&context=senior_theses
Content creators: Who they are, what they do and how they partner with brands
Sprout Social: https://sproutsocial.com/insights/content-creator/#what-is-a-content-creator
Are introverts creative? The surprising correlation between introversion and creativity.
COLE SCHAFER: https://www.coleschafer.com/blog/are-introverts-creative
Carl Jung’s Theory of Personality: Archetypes & Collective Unconscious
Simply Psychology: https://www.simplypsychology.org/carl-jung.html#Psychological-Types
personality
Britonica: https://www.britannica.com/topic/personality