คุณนัท อภิวิชญ์ CEO ผู้ก่อตั้ง EatGuide และเจ้าของช่อง NutApiwich

CEO ผู้ก่อตั้ง EatGuide และเจ้าของช่อง NutApiwich

Introduction

  • เริ่มจากความชอบในเรื่องการกิน ถึงจะไม่ชอบออกหน้ากล้อง แต่พอได้ตั้งใจทำ ดันประสบความสำเร็จ
  • บทบาทที่เปลี่ยนไปจากทำงานคนเดียวต้องเป็น CEO ที่ต้องทำหลายหน้าที่ด้วยกัน
  • ความจริงใจคือสิ่งที่อยากจะสื่อสารออกมาให้แฟนคลับได้รับผ่านคอนเทนต์

ขณะเลื่อนดูคลิปตามไทม์ไลน์โซเชียล ณ เวลากำลังจะเที่ยงคืน มันมักจะมีคลิปวิดีโอรีวิวอาหารโผล่มาให้เห็นอย่างน้อยสักหนึ่งคลิป ภาพควันฟุ่งๆ จากอาหารจานร้อน หรือซูมให้เห็นเนื้อสัมผัสอันชุ่มฉ่ำของหมูกรอบ เสียงความกรอบสะท้านเข้าเต็มหู ภาพที่น่ากินเหล่านี้แต่ดันเห็นตอนเที่ยงคืนคือความทรมานของคนดู และหนึ่งในผู้ที่สามารถสร้างความทรมานให้คนหิวอย่างเราได้คือ ‘นัท อภิวิชญ์’ เจ้าของเพจ EatGuide เพื่อนซี้เวลาหิว ที่ทำให้เราหิวจนตาลาย เพจได้รับความนิยมจากผู้คนเป็นอย่างมากมียอดผู้ติดตามสูงถึง 1.8 ล้าน และคุณนัทเองก็ได้ลองเปิดช่องแยกเล่าถึงไลฟ์สไตล์ของตัวเองอีกทางด้วย วันนี้มาดูกันว่าคุณนัทจะเรื่องราวอะไรมาเสิร์ฟให้เราได้รู้กันบ้างผ่าน 9 คำถามที่ 9Conversations

เริ่มต้นปีมานี้มีอะไรที่เริ่มเปลี่ยนแปลงจากเดิมไหม?

ในมุมของเพจ EatGuide – ปีนี้จะมีอะไรใหม่ๆ มาให้ทุกคนได้รับชมกัน อย่างการเปิดตัวพิธีกรคนใหม่ของเพจ จากเดิมมีคุณนัท คุณบอนน์ แต่ตอนนี้มีน้องใหม่เอนเนอจี้แรงมาเพิ่ม ‘คุณชิว’ ซึ่งได้รับเสีนงตอบรับที่ดีมากจากแฟนๆ ฝากทุกคนเอ็นดูน้องใหม่ของเพจด้วยนะ และยังไม่พอปีนี้ยังจะมีการเปิดตัวช่องใหม่ที่อยู่ภายใต้บริษัทของ EatGuide ด้วย เตรียมตัวรับความสนุก เรียกเสียงฮา ได้เอ็นจอยกันทุกคนแน่นอน

ในมุมของช่อง Nut Apiwich – ฝั่งของคุณนัทเอง ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ เพราะว่าโปรเจคมีหลายอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ หนึ่งในนั้นคือโปรเจคที่จะทำขึ้นร่วมกับแฟนคลับอย่าง ‘Fan Meeting’ แต่จะเกิดขึ้นช่วงปลายปี ไอเดียคือคุณนัทอยากพาแฟนคลับที่ดูคลิปแล้วรู้สึกอยากไปทัวร์ด้วยกัน ได้มีโอกาสไปทัวร์ร่วมกัน แต่จะเกิดขึ้นในรูปแบบใดอยากให้ทุกคนติดตาม หวังว่าจะได้เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ อดใจรอกันแปปเดียวนะ

บทบาทที่แตกต่างไปจากอินฟลูเอนเซอร์กลายเป็น CEO ของเพจ Eatguide?

“ผมว่าการทำงานคนเดียว กับ การทำงานร่วมกับคนอย่างบริษัท มันมีความต่างกันมากแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย เพราะว่าการทำงานคนเดียวมันไม่ต้องแคร์อะไร แต่เมื่อต้องรับบทมาดูแลให้ลักษณะของบริษัท มันจึงเหมือนกับเราต้องใส่หมวกหลายใบ หมวกแรกเจ้าของบริษัท หมวกอีกใบเป็นเพื่อนร่วมงาน หมวกอีกใบเป็นเหมือนโค้ชที่ให้คำแนะนำน้องๆ ในบริษัท อยู่ที่ว่าเราจะเลือกสวมหมวกใบนั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดนั้น คือ การแคร์ความรู้สึกของคนในบริษัท

 ในบางครั้งคุณนัทเองเผยว่าต้องระวังคำพูดของตัวเองให้มากขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้เป็นคนพูดอะไรไม่ดีอยู่แล้ว แต่บางครั้งคุณนัทเองอาจจะเป็นคนที่สื่อสารได้ไม่เก่ง เขาจึงพยายามให้คนในทีมเข้าใจในสิ่งที่เขาพูด เป็นคนที่พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะเขาไม่อยากให้คนรู้สึกเสียใจ อย่างปีที่ผ่านมาคุณนัทดุคนในทีมแค่รอบเดียวเลย จนบางทีคุณนัทยังรู้สึกว่าเขาใจดีเกินไปหรือเปล่านะ

ความรู้ของการออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง?

“ย้อนกลับไปในตอนแรกที่เริ่มทำเพจ EatGuide ช่วงปีแรกมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่อยากจะทำมันเลย เพราะรู้สึกไม่อยากพูดหน้ากล้อง พูดไม่เก่ง แต่เมื่อพอได้ลองทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้เล่าในสิ่งที่ตัวเองชอบ และทำให้รู้สึกว่ามันมีคนเข้ามาติดตามเราในสิ่งที่เราชอบ อยากจะฟังในสิ่งที่เราจะพูด ผ่านประสบการณ์ หรือรสชาติที่เรากิน จึงเป็นแรงผลักดันให้เมื่ออยู่หน้ากล้องเราต้องทำทุกอย่างให้ออกมาดี ทำคลิปออกมาให้ดีที่สุด”

คุณนัทบอกกับเราว่าปกติแล้วเมื่ออยู่นอกกล้อง หรืออยู่กับกลุ่มเพื่อน คุณนัทจะไม่ค่อยพูดอะไร เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าเพื่อนเขาอยากจะฟังในสิ่งที่เขาพูดหรือเปล่า แต่พอมีคนติดตามที่รอฟังให้สิ่งที่เขาจะพูด เขาจึงเลือกทำสิ่งนี้ให้ดีที่สุด ดังนั้น เมื่อถ่ายคลิปเสร็จพลังก็จะหมดเลย

แล้วทำไมถึงตัดสินใจเลือกทำช่องแยกเป็นของตัวเอง?

พอทำเพจ EatGuide มาได้สักพักถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่าเพจมันมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดในเรื่องของคนที่ชอบเรื่องอาหาร และเมื่อคุณนัทอยากใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปมันกลายเป็นว่าขัดกับ Branding ของเพจ บางทีคุณนัทอยากจะทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น แต่ว่าเนื้อหาอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเพจ EatGuide เท่าไหร่ เพราะอย่างชื่อเพจนั้นสื่อถึงเรื่องการกินอยู่แล้ว จึงมองว่าหากใส่เป็นตัวเองเข้าไปอาจจะทำให้ผู้ติดตามรู้สึกว่าไม่ได้ติดตามเพจแนะนำอาหารการกิน แต่รู้สึกเหมือนติดตามเพจไลฟ์สไตล์ของอินฟลูฯ แทนมากกว่า จนหาทางออกด้วยกันตัดสินใจเปิดช่องแยกเป็นของตัวเองเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ติดตามด้วย 

คอมเมนต์ไหนที่ประทับใจจำไม่เคยลืม?

คุณนัทเผยว่าส่วนตัวอ่านทุกคอมเมนต์ บางอันจะกดไลก์ไว้บ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วนั้นเห็นคอมเมนต์หมดเลยแต่แค่ไม่ได้กดไลก์ไว้ คอมเมนต์ที่เรารู้สึกชอบ หรือจะเรียกว่า “สะใจ” คือคอมเมนต์ที่ทำนองว่า “ดูคลิปพี่นัทแล้วหิวจังเลย อยากไปต้มมาม่ากิน หิวมากท้องร้อง แต่ตอนนี้ตีสามไม่รู้จะทำไงดี” เป็นโมเมนต์ที่ทำให้รู้สึกสะใจดี 

แต่อีกมุมหนึ่งคือการที่ผู้ติดตามนั้น สามารถไปกินตามแพลนของเพจได้ ไปเที่ยวตามแพลนของเพจได้ แล้วเมื่อแฟนคลับนั้นได้ไปเที่ยวจึงรู้สึกสนุก ชอบ กลับมาเขียนคอมเมนต์บอกกันว่า “ดีจังเลย ไปตามคุณนัทมาแล้วมันดีอย่างที่คุณนัทบอก” หรือคอมเมนต์จากเจ้าของร้านอาหารที่มาบอกว่า “มีคนตามมากินจากเพจคุณนัท” อาจจะเป็นการฝากเพื่อนมาบอก หรือ DM มาบอก มันเป็นคอมเมนต์ที่เติมเต็มแรงให้คนทำช่องมีกำลังใจต่อได้ดีเลยทีเดียว

เคยคิดอยากจะเลิกทำคอนเทนต์ มีวิธีดึงตัวเองกลับมาได้อย่างไร?

เมื่อครั้งที่คอนเทนต์ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีดังเดิม ตอนนั้นคุณนัทได้ยอมรับเลยว่ามีความรู้สึกที่ดาวน์อยู่เกือบเดือน ตนจึงหันไปถามคนอื่นๆ มีอะไรที่ผิดพลาด ทำไมยอดวิวมันไม่ดี พอมาลองนั่งนึกกับตัวเองดูดีๆ ถึงได้รู้ว่าจริงๆ มันมีเหตุผลอยู่ว่าทำไมยอดเอนเกจ (Engage) คอนเทนต์นั้นถึงไม่ดี เพราะปกตินั้นคุณนัทอาจจะทำงานอยู่ในกรอบความคิดของตัวเองเพียงคนเดียว จึงทำให้มองไม่เห็นจุดบอดในคอนเทนต์ แต่พอได้ลองถอยกลับออกมาหนึ่งก้าวเพื่อย้อนกลับมามองคอนเทนต์ของตัวเองว่าที่มันไม่ดีเพราะอะไร สุดท้ายจึงได้รู้คำตอบว่า คอนเทนต์ที่ทำในตอนนั้น มันไม่ได้ถูกจริตของผู้ติดตามขนาดนั้น มันมีความแหวกแนวต่างไปจากเดิม ทั้งเรื่องรูปแบบคอนเทนต์และการนำเสนอ อาจจะด้วยการรับงานโดยลืมคำนึงถึงช่องตัวเองไป เมื่อได้ทราบสาเหตุจึงปรับปรุงกลยุทธ์ต่างๆ ของช่อง และทำให้ช่องกลับมามีกระแสที่ดีเช่นเดิม 

คอนเทนต์อะไรที่จะไม่ทำแน่นอน ต่อให้เงินจ้างแค่ไหนก็ไม่ทำ?

“คอนเทนต์ที่ถูกจ้างให้ไปรีวิว โดยให้บอกว่าสิ่งนั้นอร่อย ทั้งๆ ที่มันไม่อร่อย เพราะว่าการทำแบบนั้นมันเป็นการทำร้ายต่อทุกฝ่าย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ถ้าผมบอกว่าอร่อยทั้งที่ไม่อร่อย พอมีคนไปกินตาม ก็จะรู้สึกไม่ดี เพราะบางทีจะมีคนที่ตัดสินใจไปกินตามคุณนัท ยอมใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง แต่ถ้าเป็นแบบนั้นมาถึงร้านแล้วกินไปไม่อร่อย คงทำให้เสียความรู้สึกเป็นอย่างมาก”

อีกทั้งคุณนัทเองคงจะเสียความรู้สึกตามไปด้วย อีกมุมหนึ่งสำหรับเจ้าของร้าน เขาจะได้รับผลเสียด้วย เพราะสุดท้ายหากคนไปกินแล้วบอกต่อว่าไม่อร่อยอยู่ดีเกิดเป็น Domino Effect  ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ที่คุณนัทไปรีวิวแล้วไม่อร่อย อาจจะแก้ปัญหาแจ้งให้ร้านปรับปรุงรสชาติ หากปรับให้ดีขึ้นแล้วจึงจะกลับมาทำคลิปใหม่ 

เพราะปกติแล้วหากไปรีวิวร้านอาหารหลายๆ ร้านแล้วพบว่ามีบางร้านที่รสชาติไม่ได้อร่อย คุณนัทก็เลือกที่จะไม่ลงคลิปนั้นแทน แต่ทั้งนี้รสชาติอาหารที่ถูกปากของแต่ละคนนั้นมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว บางคนชอบรสเปรี้ยว รสหวาน รสเค็มต่างกันไป ซึ่งคุณนัทเองก็มีรสชาติที่โปรดปรานในแบบของตัวเอง และมีความเชื่อที่ว่าคนที่ติดตามคุณนัทอยู่ก็น่าจะมีความชอบในรสชาติคล้ายๆ กับเขา

ถ้าไม่ได้เป็นอินฟลูฯ คิดว่าตอนนี้เราจะทำอาชีพอะไร?

ด้วยความที่คุณนัทเองจบจากบริหารธุรกิจ จุฬาอินเตอร์ เอกไฟแนนซ์ แต่เมื่อเรียนไปสักพักก็รู้สึกว่าชื่นชอบเกี่ยวกับการตลาด ก็เลยมองว่าอาจจะทำอาชีพสายนี้ หรือเป็นกูรูเรื่องคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหาร เพราะปกติแล้วตอนนี้ถ้ามีเทรนด์อาหารอะไรใหม่ๆ คุณนัทมักจะเป็นคนที่ติดตามเทรนด์อยู่เสมอ จึงทำให้รู้เทรนด์ก่อนอยู่แล้ว อย่างตอนนี้เทรนด์อาหารที่กำลังมาคือ ‘กากหมู’ เมนูอะไรที่มีกากหมูเข้าไปเสริมรสชาติเป็นอาหารที่กำลังมาเลย และที่ขาดไม่ได้ตอนนี้คือ  ‘หม่าล่าสายพาน’ เรียกได้ว่าทุกพื้นที่มีหม่าล่า มาแรงมาก

บทเรียนสำคัญที่สุดที่ได้จากการเป็นอินฟลูเอนเซอร์?

ความจริงใจ (sincere) เป็นบทเรียนสำคัญที่คุณนัทได้จากการทำ YouTube ไม่ว่าจะทำคลิปคอนเทนต์ใดก็ตามต้องมีความจริงใจ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเลือกจะหลอกคนดู ทำร้ายความรู้สึกของคนดู มันจะกลับกลายเป็นการทำร้ายเราทางอ้อม คนดูจะไม่ไว้ใจเรา มองว่าช่องของเรานั้นไม่มีความน่าเชื่อถือ จึงอาจจะทำให้ช่องของเราไม่ได้รับ Royolty ที่ดีจากทุกคน

ครบถ้วนทุกรสชาติจากคุณนัท อภิวิชญ์ CEO ผู้ก่อตั้งเพจ EatGuide และเจ้าของช่อง NutApiwich รสชาติที่เราได้ลิ้มรสจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เป็นรสของคนเก่งที่ถ่ายทอดผ่านการลงมือลงแรงทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ จนประสบความสำเร็จและล่าสุดได้รับรางวัล “Asia-Pacific Creator Choice Award” หรือ “รางวัลครีเอเตอร์ยอดเยี่ยมในเอเชียแปซิฟิก” จากงาน TheOrangeCarpet ประเทศฟิลิปปินส์เลยทีเดียว

ทุกวันนี้เพจของคุณนัทมีคนเฝ้ารอที่จะรอเขาถ่ายทอดรสชาติที่เคยได้ลิ้มลอง หรือประสบการณ์ที่เขาได้พบ ทุกคนสามารถเข้าไปติดตามคุณนัทผ่านช่องทางต่อไปนี้ได้นะ สำหรับวันนี้ขอขอบคุณคุณนัทอีกครั้งที่แชร์เรื่องราวเหล่านี้ให้เราทุกคน

สามารถติดตามได้ที่ Youtube : NutApiwich และ Eatguide