เสียงของผู้นำหญิงที่ต้องฝ่ากำแพงความรุนแรงในโลกออนไลน์


“ผู้หญิงกับผู้ชายเท่าเทียมกัน” คำพูดที่ดูเหมือนจะสร้างแรงบันดาลใจ กลับแฝงคำถามสำคัญว่า “ถ้าทุกอย่างเท่าเทียม ทำไมผู้นำหญิงต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าผู้นำชาย?”

หากพูดถึง สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงผู้นำทางการเมืองในพื้นที่สื่อออนไลน์ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทุกวันนี้สื่อออนไลน์ได้กลายเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองอย่างโดดเด่น แต่กลับกลายเป็นพื้นที่ที่ความรุนแรงทางออนไลน์เจริญเติบโตไม่ต่างจากความสำเร็จเหล่านั้น ผู้หญิงในแวดวงการเมืองต้องเผชิญการโจมตีที่ไร้ตัวตน ตั้งแต่คำดูถูก การข่มขู่ ไปจนถึงการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่กับตัวบุคคล แต่ยังสร้างบรรยากาศที่ปิดกั้นผู้หญิงรุ่นใหม่จากการเข้าร่วมในวงการนี้


เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ งานเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศร่วมพูดคุยในประเด็นนี้จึงเกิดขึ้น

ในงานเสวนา “สื่อกับผู้หญิงในโลกการเมือง” บทบาทของสื่อและความรุนแรงออนไลน์ต่อนักการเมืองหญิง คุณ Nenden Sekar Arum จากองค์กร SAFEnet ประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า 26% ของผู้สมัครหญิงในเวทีการเมืองต้องเจอกับความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเพศ ซึ่งทำให้หลายคนลังเลในการเข้าร่วมงานทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น การดูถูกเหยียดหยาม การข่มขู่ และการคุกคามทางเพศ ยิ่งไปกว่านั้น การโจมตีเหล่านี้รุนแรงยิ่งขึ้นในโลกออนไลน์ที่ปกปิดตัวตนผู้กระทำผิดไว้เบื้องหลัง ข้อมูลจาก SAFEnet ชี้ให้เห็นว่าการล่วงละเมิดทางเพศและการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวที่ผิดกฎหมายเป็นเพียงบางตัวอย่างที่ผู้หญิงต้องเผชิญในแต่ละวัน ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความมั่นใจและบทบาททางการเมืองของผู้หญิง


คุณกุลธิดา สามะพุทธิ Fact checker กองบรรณาธิการ CoFact ประเทศไทย ชี้ถึงการใช้ Gender Disinformation เป็นเครื่องมือในการทำลายชื่อเสียงของนักการเมืองหญิง โดยข้อมูลเท็จเหล่านี้แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบหลัก คือ
-Misinformation ข้อมูลผิดพลาดโดยไม่มีเจตนาร้าย
-Disinformation ข้อมูลบิดเบือนที่ตั้งใจสร้างความเสียหาย
-Malinformation ข้อมูลจริงที่ถูกบิดเบือนหรือเผยแพร่อย่างไม่เหมาะสม

ซึ่งในประเทศไทยเองก็พบกรณีเหล่านี้กับนักการเมืองหญิง เช่น คุณปารีณา ไกรคุปต์ และ คุณรักชนก ศรีนอก ต่างเผชิญความรุนแรงในรูปแบบนี้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเพศ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลเท็จ (Gendered Disinformation) ที่ใช้เป็นเครื่องมือทำลายชื่อเสียงของผู้หญิงในวงการการเมือง จนภาพลักษณ์และการสนับสนุนในสังคมการเมืองลดลงอย่างน่าเศร้า


นอกจากนี้ คุณขวัญข้าว คงเดชา นักวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า ได้เน้นถึงการสร้างกลไกป้องกันเพื่อให้ผู้หญิงมีความปลอดภัยและสามารถใช้สื่อออนไลน์ในบทบาททางการเมืองได้อย่างเท่าเทียม โดยกล่าวถึงทฤษฎี Triangular Theory of Violence โดย Johan Galtung นักวิชาการที่มีชื่อเสียงด้านสันติวิธีและการศึกษาความขัดแย้ง ที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของความรุนแรงในสามมุม ได้แก่


1. ความรุนแรงทางตรง (Direct Violence) นี่คือความรุนแรงที่เราสามารถ “มองเห็นได้” อย่างชัดเจนที่สุด เพราะมันแสดงออกผ่านการกระทำที่จับต้องได้ เช่น การทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการข่มขู่ในพื้นที่ออนไลน์ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยมีเจตนาที่ชัดเจนจากผู้กระทำซึ่งตั้งเป้าโจมตีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อโดยตรง ตัวอย่างที่เราพบเห็นได้บ่อยคือการแสดงข้อความเกลียดชังในโซเชียลมีเดีย การข่มขู่ด้วยคำพูด หรือแม้แต่การกระทำรุนแรงต่อร่างกาย ความรุนแรงประเภทนี้มักถูกมองว่าเป็นรูปแบบที่ “จับต้องได้” และ “ตระหนักได้” ง่ายที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่มีรากลึกในระบบสังคม

2. ความรุนแรงทางโครงสร้าง (Structural Violence) ความรุนแรงประเภทนี้อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่กลับส่งผลกระทบร้ายแรงอย่างต่อเนื่องต่อชีวิตผู้คน มันซ่อนตัวอยู่ใน “โครงสร้าง” ของสังคม เช่น กฎหมายที่ไม่เท่าเทียม ระบบการศึกษาที่กีดกันคนบางกลุ่ม หรือระบบเศรษฐกิจที่ผลักให้คนกลุ่มหนึ่งอยู่ในความยากจนตลอดไป ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ทำให้บางกลุ่มมีชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐานโดยที่พวกเขาไม่มีโอกาสเลือกหรือหลีกเลี่ยง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความเหลื่อมล้ำทางเพศในตลาดแรงงาน หรือการที่ผู้หญิงไม่ได้รับการสนับสนุนในการเข้าถึงตำแหน่งบริหารระดับสูง โครงสร้างเหล่านี้เปรียบเสมือนกรงขังที่คอยย้ำเตือนว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น

3. ความรุนแรงทางวัฒนธรรม (Cultural Violence) หากเปรียบความรุนแรงทางโครงสร้างเป็นรากฐานที่ฝังลึก ความรุนแรงทางวัฒนธรรมคือ “เชื้อเพลิง” ที่ทำให้ความรุนแรงยังคงอยู่และยอมรับได้ในสังคม ความรุนแรงประเภทนี้เกิดจากค่านิยม ความเชื่อ หรือวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การมองว่าการกดขี่ผู้หญิงเป็นเรื่องปกติ การใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างสนับสนุนการเลือกปฏิบัติ หรือการนำเสนอภาพลักษณ์ผู้หญิงในสื่อที่ตอกย้ำอคติทางเพศ สิ่งเหล่านี้สร้าง “ความชอบธรรม” ให้กับการกดขี่ในรูปแบบอื่น ๆ และหล่อหลอมความคิดของคนในสังคมให้มองว่าความรุนแรงเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา

ทั้งสามมิติของความรุนแรง “ทางตรง ทางโครงสร้าง และทางวัฒนธรรม” ทำงานร่วมกันอย่างลึกซึ้ง โดยความรุนแรงทางวัฒนธรรมจะสร้างฐานคิดที่ช่วยสนับสนุนความไม่เท่าเทียมในโครงสร้างสังคม ขณะที่ความรุนแรงทางโครงสร้างก็เปิดทางให้เกิดความรุนแรงทางตรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า วงจรนี้ทำให้ปัญหาความรุนแรงไม่ใช่แค่การกระทำที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แต่เป็นปัญหาที่มีรากฐานซับซ้อน ต้องได้รับการแก้ไขจากมุมมองทั้งสามพร้อมกัน เพื่อนไม่ให้เกิดการต่อการเกิด Normalization ความรุนแรงด้านเพศในสังคม


การเสวนานี้ไม่เพียงชี้ปัญหา แต่ผู้เข้าร่วมเสวนาเสนอแนวทางแก้ไขและข้อเสนอแนะในการป้องกันผู้หญิงจากการคุกคามในสื่อออนไลน์ โดยเสนอให้มีการสร้างนโยบายปกป้องผู้หญิง สนับสนุนการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้หญิงจากการคุกคามทางออนไลน์ รวมถึงการจัดการข้อมูลเท็จ รวมถึงอยากให้มีการสนับสนุนจากแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ ที่ควรมีระบบคัดกรองเนื้อหา และระบบรายงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และการสร้างความตระหนักรู้ในสังคม โดยสื่อควรมีบทบาทในการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลเท็จ เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและเสริมสร้างเกียรติยศแก่ผู้หญิงในวงการการเมือง

อย่างไรก็ตาม โลกที่เราพูดถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การยึดถือ แต่ความเป็นจริงกลับสะท้อนคำถามสำคัญที่ยังไร้คำตอบที่ชัดเจนว่า “ถ้าทุกอย่างเท่าเทียมกันจริง ทำไมผู้นำหญิงยังต้องแบกรับภาระการพิสูจน์ตัวเองมากกว่าผู้ชาย?” คำตอบอาจซ่อนอยู่ในโครงสร้างของความรุนแรงที่เรามองไม่เห็น ที่ยังคงค้ำจุนอคติและการเลือกปฏิบัติให้คงอยู่ แม้ในยุคที่สื่อเปิดพื้นที่ให้เสียงของผู้หญิงดังก้องขึ้น แต่การโจมตีที่ไร้ตัวตนและการบิดเบือนข้อมูลก็กลายเป็นกำแพงใหม่ที่ปิดกั้นความก้าวหน้า สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าความเท่าเทียมไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่การเปลี่ยนคำพูดหรือความตั้งใจดี แต่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน การปลดล็อกศักยภาพของผู้นำหญิงจึงไม่ใช่แค่เรื่องของพวกเธอ แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันที่สังคมต้องสร้าง เพื่อให้ความเท่าเทียมที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ในทุกระดับอย่างแท้จริง

การเสวนาครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการรวมผู้เชี่ยวชาญจากวงการสื่อออนไลน์และการเมืองเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในสื่อออนไลน์

สามารถร่วมฟังย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=1114459913630389 

#สื่อกับผู้หญิงในโลกการเมือง #บทบาทสื่อและความรุนแรงออนไลน์ต่อนักการเมืองหญิง #ThaiPBS